'กรมศิลปากร' ยันหน่วยงานใดเข้าบูรณะซ่อมแซมอนุสาวรีย์ชัยฯ ต้องได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำ-ปรับ
logo ข่าวอัพเดท

'กรมศิลปากร' ยันหน่วยงานใดเข้าบูรณะซ่อมแซมอนุสาวรีย์ชัยฯ ต้องได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำ-ปรับ

ข่าวอัพเดท : ผู้อำนวยการกลุ่มนิติการ กรมศิลปากร ยืนยันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นโบราณสถานตาม พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภ กรมศิลปากร,อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ,เข้าบูรณะซ่อมแซม

6,194 ครั้ง
|
13 ก.ย. 2561
 ผู้อำนวยการกลุ่มนิติการ กรมศิลปากร ยืนยันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นโบราณสถานตาม พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 หน่วยงานใดจะเข้าบูรณะซ่อมแซม ต้องได้รับอนุญาตจากกรมศิลปากร หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำคุกและปรับ
 
 นางสาวมาลีภรณ์ คุ้มเกษม ผู้อำนวยการกลุ่มนิติการ กรมศิลปากร กล่าวถึงแนวคิดการบูรณะซ่อมแซมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ที่กำลังเป็นประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ ล่าสุดจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าอนุสาวรีย์ 2 แห่ง ทั้งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถือเป็นโบราณสถาน แม้จะยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนก็ตาม เนื่องจากทั้ง2แห่ง มีหลักเกณฑ์ตรงตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ที่ระบุว่า โบราณสถาน หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลป ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ทั้งนี้ ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์ และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ถือว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ให้คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ เพื่อระลึกถึงหลักฐานทางการทหาร
 
 
ดังนั้นการจะเข้าไปบูรณะซ่อมแซม ต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมศิลปากรเป็นหนังสือเสียก่อน หากผู้ใดเข้าไปบุกรุก ทำลาย หรือสร้างความเสียหายให้กับโบราณสถาน จะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายกำหนด สำหรับโบราณสถานที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน ผู้บุกรุกทำร้าย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  สำหรับโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้บุกรุกทำลาย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
 
สาเหตุที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เป็นโบราณสถาน เนื่องจากรัฐบาลที่ดำริให้สร้างในยุคนั้น ไม่ได้ระบุว่าหน่วยงานเป็นผู้ดูแลครอบครองอนุสาวรีย์ทั้ง 2 แห่ง ทำให้ไม่มีหน่วยงานต้นเรื่องยื่นขอจดทะเบียนเป็นโบราณสถาน ทั้งทีกรมศิลปากรเตรียมข้อมูลไว้ทั้งหมดแล้ว เพราะการจดทะเบียนกรมศิลปากร จะต้องทำหนังสือถึงเจ้าของผู้ครอบครอง ให้สิทธิ์ว่าเห็นด้วยหรือว่าจะคัดค้านการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานหรือไม่ แต่ที่ผ่านมาทั้ง2อนุสาวรีย์ ไม่มีเจ้าของ และกรมศิลปากร ก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานใดคือผู้ครอบครอง รู้เพียงว่ารัฐบาลในสมัยนั้นมีดำริให้สร้างขึ้น จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานได้ แต่โดยนิยามแล้วทั้ง 2 แห่ง มีคุณค่าเป็นโบราณสถานตามกฎหมาย แต่กรมศิลปากร ไม่มีสิทธิ์กล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าของผู้ครอบครอง ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้กำหนดว่าจากนี้ จะให้หน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพดูแล โดยมีหนังสือสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะกรมศิลปากร เพิ่งจะได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการก่อสร้างอนุสาวรีย์เมื่อปี 2520 แต่อนุสาวรีย์ทั้ง 2 แห่งสร้างมาก่อนที่กรมศิลปากรจะได้รับมอบหมาย ซึ่งอนุสาวรีย์ส่วนใหญ่ในประเทศไทย เมื่อจะบูรณะซ่อมแซม ล้วนแล้วแต่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าของแจ้งขออนุญาตมาที่กรมศิลปากรทั้งสิ้น
 
ทั้งนี้หากจะมีการบูรณะซ่อมแซม หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องทำหนังสือขออนุญาต จากกรมศิลปากร และต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากกรมศิลปากรก่อนจึงจะดำเนินการได้ เพราะหากเป็นโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนแล้ว อธิบดีกรมศิลปากร สามารถสั่งระงับและให้รื้อถอนสิ่งก่อสร้างออกจากโบราณสถานได้ ถ้าครบกำหนดไม่รื้อถอน อธิบดีกรมศิลปากรมีอำนาจเข้ารื้อถอนเองได้ทันที / ส่วนโบราณสถานตามนิยามของ พรบ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน หากพบการบุกรุกทำร้าย กรมศิลปากร สามารถไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้บุกรุกได้
 
 สำหรับขั้นตอนการบูรณะซ่อมแซมโบราณสถานต่างๆของประเทศไทยนั้น ผู้ครอบครองหรือเจ้าของ ต้องทำหนังสือแจ้งมายังคณะกรรมการเพื่อการอนุรักษ์โบราณสถาน ว่าจะเข้าไปซ่อมแซม บูรณะส่วนใด บริเวณไหน จากนั้นคณะกรรมการที่ประกอบด้วย สถาปนิก วิศวกร นักโบราณคดี พันธรักษ์ และอดีตผู้บริหารกรมศิลปากร จะร่วมกันตรวจสอบรายละเอียด เมื่อตรวจสอบวางแนวทางบูรณะแล้ว จากนั้นกรมศิลปากรจะส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักช่าง 10 หมู่ เข้าดูแลบูรณะซ่อมแซมตามรายละเอียดที่กำหนดไว้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง