ข่าวเย็นประเด็นร้อน - ตำรวจกองปราบปรามและกรมศิลปากร ร่วมมือกันทลายแก๊งล่าสมบัติโบราณ ซึ่งยึดวัตถุโบราณได้พันกว่าชิ้น ซึ่งมีวัตถุโบราณที่อายุ 1,600 กว่าปีรวมอยู่ด้วย อีกทั้งเป็นการพบเข็มสักโบราณสมัยล้านนาอายุหลายร้อยปีเป็นครั้งแรกด้วย นับว่าเป็นการขุดพบครั้งแรกโดยแก๊งคนร้าย
นี่เป็นวัตถุโบราณที่ตำรวจกองปราบ และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ตรวจยึดมาได้จากแก๊งล่าสมบัติโบราณ ซึ่งได้มา 1,000 กว่าชิ้น แต่ที่นำมาแสดงให้สื่อมวลชนดูประกอบการแถลงข่าว เลือกมาให้ดูกันชิ้นที่สำคัญ ๆ
การจับกุมแก๊งล่าสมบัติโบราณครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากตำรวจกองปราบ ได้รับแจ้งเบาะแสจากกลุ่มผู้อนุรักษ์โบราณวัตถุ ว่ามีกลุ่มลักลอบขุดโบราณวัตถุ แล้วนำไปโพสต์ขายในออนไลน์ จึงร่วมสืบสวนกับเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร พบบัญชีเฟซบุ๊กของกลุ่มดังกล่าว โพสต์ภาพการขุดค้นหาโบราณวัตถุ พร้อมประกาศขาย
ตำรวจจึงติดต่อล่อซื้อ และนำไปตรวจสอบ พบว่าวัตถุโบราณ จึงสืบสวนต่อ ก็พบว่า คนร้ายมี 2 กลุ่ม คือกลุ่มขุดหาโบราณวัตถุตามสถานที่ต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคเหนือ แล้วนำมาโพสต์ขาย และกลุ่มที่รับซื้อ โดยพบว่ากลุ่มคนร้าย มีรายได้ต่อเดือนประมาณ 200,000 บาท และมีเงินหมุนเวียนในบัญชีกว่า 10 ล้านบาท ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
ตำรวจเข้าค้นสถานที่ซุกซ่อนโบราณวัตถุ 9 จุด ใน 4 จังหวัด คือ เชียงใหม่, พะเยา, สุโขทัย และลำปาง ยึดโบราณวัตถุได้ 1,000 กว่าชิ้น จับผู้ต้องหาได้ 3 คน ยึดเครื่องสแกนโลหะ 11 เครื่อง ที่แก๊งนี้ใช้สแกนหาวัตถุโบราณ
ที่ตำรวจไปล่อซื้อ ติดต่อล่อซื้อวัตถุโบราณสำคัญ 2 ชิ้น คือ วัตถุรูปวัว และวัตถุรูปช้าง นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า วัตถุโบราณทั้ง 2 ชิ้นนี้ ตรวจสอบแล้วเป็นของจริง และถือว่ามีความสำคัญทางโบราณคดีมาก โดยวัตถุรูปวัวสำริด อายุประมาณ 1,600 ปี ลักษณะมีเขาและหนอกที่หลัง ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดีย บ่งบอกถึงความสัมพันธ์ทางการค้า และเรื่องราวต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ ส่วนวัตถุรูปช้างสำริด เป็นศิลปะล้านนา มีตราประทับไว้ด้วย อายุราว 500-600 ปี
นอกจากวัตถุ 2 ชิ้นนี้ที่สำคัญแล้ว ยังมีอีกหลายอย่างที่ล้วนเป็นโบราณวัตถุสำคัญทางประวัติศาสตร์ และมีบางอย่างที่เป็นการพบครั้งแรกด้วย นายมนตรี ธนภัทรพรชัย ผู้อำนวยการกลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 6 สุโขทัย บอกว่า โบราณวัตถุที่เพิ่งพบครั้งแรก คือ เข็มสักอายุหลายร้อยปี ซึ่งคนในล้านนาภาคเหนือ และกลุ่มคนในจีนตอนใต้ ที่พูดภาษาไทย จะมีความเชื่อในเรื่องของการสักที่บริเวณท้องและต้นขา โดยแต่ก่อนไม่เคยพบหลักฐานเข็มสักเลย แต่เพิ่งจะมาพบครั้งนี้จากการตรวจยึด ถือเป็นหลักฐานสำคัญที่ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมการสัก ของผู้ชายในสมัยล้านนา
ยังมีหอยเบี้ย ที่เป็นหอยเบี้ยจากมหาสมุทรอินเดีย ค่อนข้างจะหายาก เป็นของพิเศษที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงิน ก็พบใช้ในล้านนาด้วยเงินเจียง เป็นวัฒนธรรมการใช้เงินต่อจากหอยเบี้ย จะมีตราประทับของอาณาจักร และชื่อเมือง ที่เห็นอยู่นี้ ประทับคำว่า แสน ซึ่งหมายถึงเชียงแสน เวลาใช้ก็จะหักแบ่งครึ่ง ยังมีภาชนะดินเผาเคลือบ ซึ่งปกติใช้ใส่อาหาร แต่ภาชนะนี้ ใช้เก็บเครื่องมือมีคม เครื่องถ้วยจีน เหล็กตุ้มที่ใช้สำหรับตาชั่ง มีด แหวน
นอกจากนี้ ยังมี วัตถุโลหะทรงกลม มีเม็ดโลหะด้านใน เรียกว่าลูกอม ใช้นวดมือ นำเข้าจากจีน ผลิตที่เมืองหูเป่ย ในสมัยราชวงศ์หมิง แต่บางหลักฐานระบุว่าผลิตในสมัยราชวงศ์ฮั่น อายุประมาณ 700-800 ปี
วัตถุโบราณเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า ชุมชนในภาคเหนือ มีการอยู่อาศัยกันอย่างต่อเนื่อง มีของใช้หลากหลายสมัยมาก และของใช้เหล่านี้มาจากหลายที่ เป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญ ซึ่งตำรวจสอบสวนกลาง และกรมศิลปากร ก็เตือนภัยประชาชน กรณีพบเจอสิ่งของคล้ายโบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ขอให้ท่านนำส่งกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ไม่ควรยึดถือไว้เป็นของตน เนื่องจากมีความผิด ตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35