เมื่อเวลา 11.00 น. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. หารือร่วมกับ บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จํากัด (มหาชน) หรือ BTS, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค หารือกรณีรถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้องใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.เปิดเผยว่า ปัญหาเกิดจากการรบกวนสัญญาณระหว่างคลื่นโทรคมนาคม และการคมนาคม เนื่องจากทีโอทีผู้ถือครองคลื่นความถี่ 2,300 MHz และให้ดีแทคเป็นผู้พัฒนา ไปกระทบกับคลื่น 2,400 MHz ที่ BTS ใช้ส่งสัญญาณการขับเคลื่อนของรถไฟฟ้า แม้จะกันคลื่นให้ดีแทคใช้ไม่เกิน 2,370 MHz สัญญาณความถี่ห่างกัน 30 MHz แต่ยังมีปัญหา การแก้ปัญหาระยะยาวจึงให้ BTS ขยับไปใช้คลื่นความถี่ใกล้คลื่น 2,500 MHz มากที่สุด 3 ช่วง 2,480-2,485 MHz / 2,485-2,490 MHz และ 2,490-2,495 MHz
ส่วนในระยะสั้น BTS กำลังปรับเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณจากเดิมที่ใช้โมโตโรล่า เป็นอุปกรณ์ฯ ของม๊อคซ่า บริษัทลูกของ บอมบาร์ดีเย่ร์ ซึ่งจะทำให้การรับสัญญาณแคบลง และชัดเจนมากขึ้น เมื่อแคบลงจะไม่ไปรับสัญญาณจากคลื่นความถี่อื่น และมีการติดตั้ง Filter ป้องกันสัญญาณรบกวนด้วย คาดว่าจะเปลี่ยนอุปกรณ์เสร็จในคืนวันศุกร์ และใช้งานได้วันเสาร์นี้
นายรังสรรค์ จันทร์นฤกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจสื่อสารไร้สาย ทีโอที บอกว่า ระหว่างนี้ ทีโอทีจะปิดสถานีฐานที่ปล่อยสัญญาณคลื่น 2,300 MHz ตามแนวรถไฟฟ้า เบื้องต้นคาดว่าต้องปิด 10 สถานีจนถึงวันศุกร์นี้ เพื่อให้สัญญาณไม่รบกวนรถไฟฟ้า BTS น่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนกรุงมากที่สุด ขณะที่ลูกค้าดีแทคที่ใช้คลื่นดังกล่าวอยู่ ระบบจะเปลี่ยนไปรับสัญญาณคลื่น 2,100 MHz อัตโนมัติ ส่วนกรณีจะเรียกร้องความเสียหายที่ปิดให้บริการนั้น เป็นเรื่องสุดท้ายที่จะดำเนินการ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTS ยอมรับว่า แม้ทีโอทีปิดสถานีฐานแล้ว แต่ยังมีผู้ใช้มือถือคลื่น 2,300 MHz ที่ดึงสัญญาณมาจากสถานีฐานที่ห่างออกไป อาจทำรบกวนการเดินทางบ้าง แต่เชื่อว่าไม่มากเท่า 3 วันก่อน และเมื่อเปลี่ยนอุปกรณ์รับสัญญาณเสร็จเชื่อว่า BTS จะกลับมาใช้งานได้เป็นปกติ
ส่วนกรณีการทดลองปิดสถานีฐานของคลื่น 2300 MHz เมื่อเช้าวานนี้ แต่ยังปรากฎว่ามีความขัดข้องของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสนั้น วงแถลงข่าวชี้แจงว่าแม้การทดลองปิดไปจะลดปัญหาได้ก็จริง แต่อุปกรณ์มือถ่ือต่างๆ ของประชาชนยังใช้ย่านคลื่นเดิมอยู่บางส่วน (ยังมีการรับส่งข้อมูลในย่านเดิม ไม่สวิตช์ไปย่านใหม่) ทำให้ยังเกิดปัญหา ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงเวลาที่มีผู้ใช้โทรศัพท์เยอะ (ทั้งบนรถไฟฟ้าและในสถานที่ตามแนวรถไฟฟ้า)
ส่วนระบบอาณัติสัญญาณที่เคยมีการเปลี่ยนจากระบบของซีเมนส์มาเป็นบอมบาดิเย่ร์นั้น นายสุรพงษ์ ยืนยันว่าเป็นแค่การเปลี่ยนจากระบบมีสายเป็นไร้สายเท่านั้น ระบบขนส่งมวลชนหลายประเทศใช้บริษัทนี้ดูแลซึ่งได้มาตรฐานดีหลายปีที่ผ่านมาไม่มีปัญหา
(ข่าวอัปเดตล่าสุด : 16.38 น.)