หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทยประกาศแก้ไขระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ในระบบ TCAS ให้เพิ่มรอบการ Clearing House รอบที่ 3/2 ให้กับนักเรียน ม.6 ที่พลาดหวังจากการคัดเลือกในรอบที่ 3/1 จากปัญหานักเรียนบางส่วนไม่ผ่านการคัดเลือกในคณะที่ต้องการเพราะมีนักเรียนอีกส่วนหนึ่งที่ได้คะแนนสูง จนสามารถสอบติดหลายสาขาวิชานั้น
ผู้สื่อข่าวพูดคุยกับผศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ เลขาธิการ ทปอ. ในรายละเอียดเพิ่มเติม โดยผศ.ดร.ประเสริฐยืนยันว่านักเรียนที่จะเข้ารับการคัดเลือกในรอบที่ 3/2 ไม่ต้องสมัครใหม่ หรือชำระเงินเพิ่มแต่อย่างใด
ซึ่งขั้นต้นนักเรียนที่ "ผ่านการคัดเลือกในรอบ 3/1" จะต้องไปยืนยันสิทธิ์ หรือสละสิทธิ์ในระบบให้เรียบร้อยก่อน ในวันที่ 1-3 มิถุนายนนี้ หากนักเรียนยืนยันสิทธิ์ก็จะไปสู่ขั้นตอนการรอสอบสัมภาษณ์ แต่หากไม่ยืนยันสิทธิ์ใน 3 กรณี คือ (1) สละสิทธิ์/Decline (2) ไม่เลือกสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิ์ตามรอบ 3/1 หรือ (3) ไม่เข้าทำการใดๆ ในระบบ จะถือว่านักเรียนสละสิทธิ์ในกลุ่มสาขาวิชาที่ได้รับสิทธิ์ไปในรอบ 3/1 และจะไม่มีสิทธิ์ได้รับการคัดเลือกในสาขาวิชากลุ่มเดิมในรอบ 3/2 อีก
"เช่น ในรอบ 3/1 นักเรียนคนหนึ่งสอบติด 1 สาขาวิชา และไม่ติดอีก 3 สาขาวิชา ถ้าเขาไม่ยืนยันสิทธิ์ใน 1 สาขาที่สอบได้นี้ ในรอบ 3/2 ก็จะมีโอกาสสอบติดได้เพียงอีกไม่เกิน 3 สาขาวิชาที่ไม่เคยสอบติดเท่านั้น" ผศ.ดร.ประเสริฐระบุ
และถ้านักเรียนยังไม่เลือกยืนยันสิทธิ์ในสาขาวิชาใดๆ ในรอบ 3/2 อีก หรือนักเรียนยังไม่ผ่านการคัดเลือกในสาขาวิชาใดๆ เลยในรอบ 3/2 อีก นักเรียนก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกในรอบที่ 4 ต่อไป
ส่วนคำถามที่ว่า ในการคัดเลือกรอบ 3/2 นักเรียนยังมีโอกาส "ผ่านการคัดเลือก" ได้พร้อมกันหลายสาขาวิชาแบบที่เคยเป็นในรอบ 3/1 หรือไม่ ผศ.ดร.ประเสริฐระบุว่าใช่ กติกาทุกอย่างยังคงเดิม และเมื่อติดหลายสาขาพร้อมกัน นักเรียนก็จะเลือกยืนยันสิทธิได้ 1 สาขาเหมือนเดิม
ผศ.ดร.ประเสริฐยืนยันว่า จุดประสงค์ของการคัดเลือกในรอบที่ 3 นั้น จริงๆ นำใช้ทดแทนการรับตรงอิสระในอดีต ที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต่างรับตรงกันเอง ทำให้เด็กเก่งๆ สามารถวิ่งรอกสอบได้ไม่จำกัด ทำให้บางคนอาจจะสอบติดมากถึง 10 ที่ ตามศักยภาพที่ตัวเองมี ซึ่งก็คล้ายเป็นการกันสิทธิ์นักเรียนคนอื่นเอาไว้ แต่ด้วยระบบ TCAS ในรอบที่ 3 จะทำให้เกิดกันสิทธิ์คนอื่นได้ไม่เกิน 3 ที่เท่านั้น เพราะมีให้นักเรียนเลือกได้เพียง 4 อันดับ
"การกันสิทธิ์มันห้ามยาก ด้วยความต้องการปัจจุบัน เมื่อก่อนกันสิทธิ์ทีอาจจะกันเป็น 10 ที่ หรือกมากกว่านั้นด้วยซ้ำถ้าคุณมีปัญญาเดินสายสอบ ระบบที่เราทำขึ้นเพราะเรารู้ว่าเราห้ามการกันสิทธิ์ไม่ได้ ดังนั้นระบบจึงมีให้แค่ 4 ตัวเลือก เพื่อให้คุณมีความสามารถกันสิทธิ์ได้มากที่สุด 3 ที่ การกันที่มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตลอดในสังคมไทยตั้งแต่ยุคเปลี่ยนจากเอนทรานซ์มาเป็นแอดมิชชั่น มันกันที่มาตลอด" ผศ.ดร.ประเสริฐระบุ
ผศ.ดร.ประเสริฐยังยืนยันว่าคะแนนของ TCAS รอบ 3 ไม่สามารถนำมาเทียบกับคะแนนแอดมิชชั่นส์กลางในอดีตได้เพราะเป็นคนละระบบ แต่สังคมกำลังไม่พอใจโดยใช้ความรู้สึกแบบเดิมๆ ใช้คะแนนของปีก่อนๆ มาเทียบ
"แล้วมีบางคนถามว่าทำไมไม่ให้เด็กเลือกอันดับเหมือนเอนทรานซ์สมัยก่อน รอบสามเนี่ยมันเรียงลำดับไม่ได้ กสพท.เขาทำได้เพราะเขาใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน เขาใช้เกณฑ์เดียวกันมาจัดลำดับ แต่ว่ารอบสามเนี่ย มันมาจากรับตรงสมัยก่อน คุณไปแต่ละที่เขาก็ใช้ข้อสอบคนละชุด คะแนนที่ใช้ก็เทียบกันไม่ได้"
"ระบบเก่าเนี่ยมันรับตรงกันเองแล้วไม่มีทางรู้คะแนนกันหรอก ถูกมั้ย คะแนนคณะนี้ไปเทียบกับอีกคณะหนึ่งไม่ได้ แล้วคะแนนที่เอามาใช้เป็นเกณฑ์ก็เป็นคะแนนจากแอดมิชชั่นส์กลาง คะแนนแอดมิชชั่นส์ก็ไม่ใช่คะแนนที่สูงที่สุดของประเทศ เพราะเด็กที่ได้คะแนนสูงๆ เขาติดรับตรงอิสระไปหมดแล้ว ดังนั้นคะแนนที่เขาเห็นน่ะเป็นคะแนนภาพลวงตา"
"ตอนนี้สังคมไม่เข้าใจ ก็ค่อยๆ อธิบายไป พอข้อมูลมันปรากฎบนโต๊ะหมด มันก็เลยเป็นประเด็น เพราะตอนนี้ข้อมูลทุกอย่างมันเผยต่อหน้าหมดเลย แต่ในอดีตข้อมูลมันไม่เผยต่อหน้าแบบนี้ไง" เลขาธิการ ทปอ.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่านักเรียนอาจมีความกดดันจากปัจจัยรอบข้าง ทั้งครอบครัว เพื่อน หรือบุคคลอื่นๆ ว่ายังไม่มีที่เรียนแม้จะล่วงเลยมาจนถึงช่วงเดือนพฤษภาคมแล้ว ทำให้เกิดความไม่พอใจ ทปอ.ได้คิดถึงผลทางจิตวิทยานี้ในช่วงการวางระบบ TCAS หรือไม่ ผศ.ดร.ประเสริฐตอบว่าทปอ.พิจารณาในหลายมิติ แต่ทปอ.ก็ถูกจำกัดด้วยข้อจำกัดหลายประเภท ทั้งความต้องการที่อยากให้นักเรียน ม.6 เรียนจบก่อนแล้วจึงเริ่มการสอบเข้ามหาวิทยาลัย และการตรวจข้อสอบก็ไม่ได้ใช้เวลาเพียงสั้นๆ แต่ใช้เวลาตรวจเป็นเดือน
"เมื่อการรับเข้าโดยใช้คะแนนข้อสอบเป็นเกณฑ์ มันทำไม่ได้เร็วหรอก โควตาที่เขาไม่สนใจคะแนนสอบเขารับไปหมดแล้ว แต่โควตาที่ต้องใช้คะแนนสอบเขาต้องรอคะแนนสอบออกหมดก่อน ทั้ง O-Net / GAT-PAT และ 9 วิชาสามัญ การวัดโดยใช้คะแนนสอบจึงไม่อาจทำได้เร็วเหมือนสมัยก่อนที่ทุกคนแยกกันสอบเองหมดแต่ต้องเสียเงินค่าสมัครมากมายและต้องจ่ายค่าเล่าเรียนล่วงหน้า มันคือไก่กับไข่ เรากำลังแก้ปัญหาหนึ่งแล้วเจออีกปัญหาหนึ่ง"
ผศ.ดร.ประเสริฐระบุต่อไปว่า ใน TCAS รอบที่ 1 และรอบที่ 2 มีผู้สมัครและผ่านการคัดเลือก 180,000 คน สละสิทธิ์ 60,000 คน ทำให้มีนักเรียนที่ยืนยันสิทธิไปตั้งแต่รอบที่ 1 และ 2 แล้วกว่า 120,000 คน และคนกลุ่มนี้ไม่ต้องเข้ามาในรอบที่ 3 และ 4 อีก
"พอมาถึงรอบ 3 มีผู้สมัครราวๆ 106,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่อยากสอบเข้า กสพท. แต่มีที่นั่งที่รองรับได้ราว 101,000 ที่นั่ง แล้วยังมีที่นั่งในรอบที่ 4 อีกราว 80,000 ที่นั่ง" ผศ.ดร.ประเสริฐกล่าว
ผศ.ดร.ประเสริฐยืนยันว่า บทบาทของทปอ.คือการทำให้ตัวเลือกสำหรับไปกันที่นั่งผู้อื่นเหลือน้อยที่สุด และยังเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเลือกได้
"มันคือจุดสมดุลระหว่างจำนวนช้อยส์ที่น้องจะเลือกได้อย่างเหมาะสมและไปกันที่คนอื่นน้อยที่สุด นั่นคือจะไม่เหมือนเมื่อก่อนแน่นอนที่คนๆ หนึ่งจะไปได้ 10-20 ที่และเลือกไว้หมด จองไว้หมด"
ผศ.ดร.ประเสริฐชี้ว่าหากวิธีการคัดเลือกรอบที่ 3 แบบ 3/1 และ 3/2 ใช้แล้วได้ผล ได้รับการยอมรับ ก็อาจจะพิจารณาใช้ต่อในปีหน้า และอาจจะขยายผลไปแก้ปัญหาในส่วนอื่นๆ ต่อไป เช่น การพิจารณาจังหวะเวลาในการคัดเลือกให้ดีขึ้น จัดสอบเร็วขึ้น แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการเปิด Clearing House รอบที่ 3/3 เพิ่มเติมอีกแน่นอน เพราะการเปิดรอบ 3/2 จะแก้ปัญหา กพสท.ได้แน่นอน และจะทำให้มีที่นั่งถูกเลื่อนขึ้นมากว่าหมื่นที่นั่ง ซึ่งน่าจะรองรับนักเรียนที่ยังไม่ผ่านการคัดเลือกได้พอสมควรอยู่แล้ว
ช่วงท้ายของการพูดคุย เลขาธิการ ทปอ.บอกว่าระบบ TCAS สามารถปรับเปลี่ยนได้ และการดำเนินการในปีนี้ก็มีการเก็บข้อมูลวิจัยเพื่อการปรับปรุงระบบไปพร้อมกัน
"เราทำการเก็บข้อมูลและวิจัยระบบ TCAS ตามการทำงานในปีนี้ไปด้วยเลยนะ พูดกันตั้งแต่วันแรกที่เกิดเลยว่า เราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ดังนั้นเก็บข้อมูลมาเพื่อที่จะมาปรับปรุงมันต่อไป แต่มันคงไม่ใช่ Big Change (การเปลี่ยนแปลงใหญ่) อย่างแยก 3/1 กับ 3/2 เนี่ยก็ถือว่า Change แล้ว พอ Change แล้วมันเกิดประโยชน์ ปีหน้าก็อยู่อย่างนี้ ผมก็ไปจัดเวลาใหม่"
"ผมคิดว่า ทปอ.พยายามที่จะทำให้น้องๆ ทุกคนมีที่เรียน เรารับรู้ถึงความเดือดร้อน เมื่อเรามีวิธีการที่คิดว่าสามารถดำเนินการได้ เราก็ปรับ เราก็ดำเนินการให้ แต่ทั้งนี้การดำเนินการใดๆ ก็แล้วแต่มันย่อมมีคนที่อาจจะสมประโยชน์แล้วก็คนที่ไม่สมประโยชน์ ดังนั้นเราก็ต้องชั่งน้ำหนักให้อยู่บนความพอดี" เลขาธิการ ทปอ.ปิดท้าย