หลังจากที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 53/2560 ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ล่าสุดทั้ง 2 พรรคออกมาวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยพรรคประชาธิปัตย์หวั่นว่าจะทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปเพราะต้องไปแก้กฎหมายพรรคการเมือง ขณะนักวิชาการชี้ว่าจุดที่น่าเป็นห่วงว่าเลือกตั้งจะถูกเลื่อนของจริงคือหากร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วย ส.ส. หรือ ส.ว.ถูกตีตกทั้งฉบับ ซึ่งจะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าหากศาลชี้ว่าคำสั่ง คสช. เป็นโมฆะ การดำเนินการต่างๆ ของพรรคการเมืองต้องกลับไปยึดตามกฎหมายฉบับหลัก คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 แต่เนื่องจาก มาตรา 141 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับดังกล่าวกำหนดให้ภายใน 180 วัน พรรคต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคใหม่รวมถึงประกาศอุดมการณ์พรรค ซึ่งถ้าดูจากระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมืองขณะนี้บังคับใช้มาแล้วกว่า 200 วัน เท่ากับว่าระยะเวลาล่วงเลยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จำเป็นจะต้องไปแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธีคือใช้อำนาจ คสช.ตามมาตรา 44 ในการแก้ไข หรือจะใช้วิธีเสนอกฎหมายแก้ไขต่อ สนช. ซึ่งวิธีนี้ต้องใช้ระยะเวลาถึงครึ่งปีเพราะเป็นกฎหมายที่โปรดเกล้าฯ บังคับใช้แล้ว ดังนั้นการเลือกตั้งจะเลื่อนไปมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับ คสช. จะใช้วิธีใดแก้กฎหมาย
ขณะที่นายชูศักดิ์ ศิรินิล ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุต้องดูว่า คำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ หากขัดเฉพาะประเด็นการเซ็ตโร่สมาชิกพรรคและสาขาพรรคนั้น ก็ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพราะกฎหมายพรรคการเมืองให้สมาชิกและสาขาพรรคที่มีอยู่จะมีสถานะอยู่ต่อไปตามเดิม ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะวินิจฉัยประเด็นใด หากขัดทั้งฉบับ คสช. ก็ต้องหาทางออกเรื่องระยะเวลาการแจ้งรายชื่อสมาชิกต่อ กกต. ที่ตามกฎหมายพรรคการเมืองเลยระยะเวลาไปแล้ว แต่ไม่ใช่ สาระสำคัญ ที่ คสช. จะหยิบเอาประเด็นนี้ไปแก้กฎหมายพรรคการเมืองเพื่อยื้อเลือกตั้ง
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรียืนยันว่าเรื่องนี้มีทางออกที่อาจจะไม่ต้องแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ต้องรอดูก่อนว่าศาลจะวินิจฉัยอย่างไร
อย่างไรก็ตามนักวิชาการด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ อาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมองว่า ประเด็นที่น่าห่วงจริงๆอาจจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปได้นาน คือไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. หรือร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ฉบับใดฉบับหนึ่งก็จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองทันที ไม่ต้องรอมาแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญตีตกร่างกฏหมายทั้งฉบับรัฐบาลจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป ประเด็นนี้อาจจะเป็นเงื่อนไขสำคัญให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปนานกว่าปกติ เพราะอาจจะต้องไปแก้ไขที่รัฐธรรมนูญก่อนจะมีการแก้ไขร่างกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม อ.พรสันต์ยืนยันว่าหากศาลตีตกแค่บางมาตราก็ไม่มีปัญหา เพราะมาตรานั้นก็จะบังคับใช้ไม่ได้เป็นบางมาตราไป ซึ่งร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นฉบับสุ่มเสี่ยงที่จะถูกตีตกทั้งฉบับ เพราะ สนช. ไปแก้ไขในหลักการภาพรวม ต่างไปจากที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญร่างไว้ แต่ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับศาลว่าจะพิจารณาอย่างไร
+ อ่านเพิ่มเติม