นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปาฐกถาเกี่ยวกับแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งในการประชุมสามัญประจำปีของสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย ว่าจะเน้นการยกระดับประสิทธิภาพโลจิสติก และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในทุกด้าน ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมแบบไร้รอยต่อ ที่สำคัญต้องช่วยลดต้นทุนการขนส่ง โดยในเดือนพฤษภาคมนี้ตนจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ตามแนวระเบียบเศรษฐกิจ "อีสต์-เวสต์ คอริดอร์" เชื่อมแม่สอด-มุกดาหาร ความยาวกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นเส้นทางคมนาคมสำคัญทางเศรษฐกิจ เชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง แผนการก่อสร้างช่วงแรกเริ่มด้านตะวันออกก่อน จากนครพนม-มุกดาหาร-บ้านไผ่ ระยะทาง 400 กิโลเมตร หาก ครม.อนุมัติ จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปีนี้
ส่วนโครงการรถไฟทางคู่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจ "นอร์ท-เซาท์ คอริดอร์" เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดว่าจะเสนอ ครม.ในเดือนพฤษภาคมนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาระดมความเห็นแนวทางจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง โดยระบุว่า การพิจารณาแผนฟื้นฟูการรถไฟแห่งประเทศไทยจะสามารถนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ก่อนจะนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยจะมีการพิจารณาปลดล็อคมติ ครม. จำกัดการเพิ่มจำนวนพนักงานการรถไฟฯ เพื่อให้การรถไฟฯ สามารถเพิ่มพนักงานรองรับการขยายตัวของระบบรางได้มากขึ้น ส่วนกรณีที่พนักงานการรถไฟฯ ร้องเรียนว่าจำนวนพนักงานน้อยไม่เพียงพอต่อการให้บริการโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลนั้น ระบุว่า เป็นเรื่องของการบริหารจัดการบุคลากรในองค์กรการรถไฟฯ และเชื่อว่า การรถไฟฯ จะสามารถบริหารจัดการได้
สำหรับแนวทางการจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศระบบราง เบื้องต้นวางแผนจะให้เป็นหน่วยงานกำกับเชิงนโยบายของกระทรวงคมนาคม หรือเป็นองค์กรกลาง ทำหน้าที่ในการวิจัยพัฒนา รวบรวม และจัดการการถ่ายทอดเทคโนโลยี องค์ความรู้ด้านระบบราง รวมถึงและ สร้างบุคลากรทุกระดับให้กับอุตสาหกรรมระบบราง นอกจากนี้ยังเปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกรมราง ว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา คาดว่าภายในปีนี้จะมีความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว
+ อ่านเพิ่มเติม