BTS ร่อนจม.แจงเหตุคนพิการทุบกระจกลิฟต์ ระบุตกลงล็อกลิฟต์กับกทม.-ส.คนพิการไว้ตั้งแต่ปี 42
logo ข่าวอัพเดท

BTS ร่อนจม.แจงเหตุคนพิการทุบกระจกลิฟต์ ระบุตกลงล็อกลิฟต์กับกทม.-ส.คนพิการไว้ตั้งแต่ปี 42

ข่าวอัพเดท : บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเอกสารชี้แจงกรณีนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้พิการนั่งรถเข็น ทุบกระจกลิฟท์เมื่อคืนวันอา BTS,ผู้พิการ,ทุบกระจก,ลิฟต์

5,310 ครั้ง
|
13 มี.ค. 2561
บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ส่งเอกสารชี้แจงกรณีนายมานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้พิการนั่งรถเข็น ทุบกระจกลิฟท์เมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 20.15 น. นายมานิตย์ได้มาใช้บริการที่สถานีอโศก โดยมาจากทางเชื่อมอาคารเทอร์มินัล 21 เมื่อมาถึงเจ้าหน้าที่ประจำสถานีขอให้กรอกแบบฟอร์มบันทึกการโดยสาร ซึ่งเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติปกติสำหรับผู้พิการ แต่ทั้งนี้นายมานิตย์ได้ปฏิเสธการลงชื่อและได้เข้าไปทุบกระจกประตูลิฟท์แตก 
 
ทางบีทีเอสระบุว่ารู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมิได้นิ่งนอนใจ หากขั้นตอนการปฎิบัติทำให้ผู้พิการไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ บริษัทฯ จะทำการทบทวนปรับปรุงขั้นตอนปฏิบัติให้มีความสะดวกมากขึ้น แต่ยังคงต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้โดยสารที่เป็นผู้พิการ
 
สำหรับลิฟท์ที่ให้บริการในสถานีบีทีเอสแบ่งเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกคือลิฟท์สำหรับคนพิการ ใน 4 สถานี ได้แก่ สถานีหมอชิต ช่องนนทรี อโศก และอ่อนนุช โดยก่อสร้างให้สามารถขึ้นตรงจากชั้นพื้นถนน ผ่านชั้นจำหน่ายตั๋วไปถึงชั้นชานชาลาได้โดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวก และความปลอดภัยกับผู้พิการมากที่สุด ซึ่งได้ก่อสร้างและเปิดให้บริการพร้อมรถไฟฟ้าบีทีเอส ในปี 2542 และได้มีขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อการใช้งานของผู้พิการ โดยกรุงเทพมหานคร บริษัทฯ และสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ได้หารือร่วมกันในขณะนั้นว่า จะมีการปิดล็อคประตูลิฟท์ไว้ และเมื่อมีผู้พิการมาใช้บริการก็ให้กดปุ่มแจ้งเจ้าหน้าที่มารับ เพื่อกรอกแบบฟอร์มบันทึกการเดินทาง และให้เจ้าหน้าที่พาขึ้นไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วและชั้นชานชาลา เพื่อโดยสารรถไฟฟ้าไปยังสถานีปลายทาง โดยจะมีเจ้าหน้าที่มารอรับที่สถานีปลายทางนำลงสู่ชั้นพื้นถนนอย่างปลอดภัย
 
ลิฟท์ประเภทที่สอง กรุงเทพมหานครได้มีการสร้างลิฟท์เพิ่มเติมจนครบในเส้นทางเดิม และในส่วนต่อขยายทุกสถานี โดยลิฟท์เหล่านี้เปิดให้ประชาชนทุกคนใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งลิฟท์จะมี 2 ส่วน คือ ลิฟท์จากชั้นพื้นถนนไปยังชั้นจำหน่ายตั๋วจะอยู่นอกเขตชำระเงิน และลิฟท์จากชั้นจำหน่ายตั๋วไปยังชั้นชานชาลา จะอยู่ในเขตชำระเงิน จึงสามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องกดเรียกเจ้าหน้าที่ แต่สำหรับผู้พิการเมื่อขึ้นมายังห้องจำหน่ายตั๋วแล้ว ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อกรอกแบบฟอร์มและรับบริการจากเจ้าหน้าที่
 
ปัจจุบันมีผู้พิการทุกประเภทเดินทางด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส วันละประมาณ 2,800 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้พิการที่นั่งรถเข็นวันละประมาณ 20 คัน ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกบนสถานีเพิ่มขึ้น รวมทั้งอุปกรณ์สำหรับผู้พิการ อาทิ การสร้างทางเดินเชื่อมจากสถานีสยามไปยังแยกราชประสงค์ การติดตั้ง ลิฟท์สำหรับรถเข็นคนพิการ (Stair Lift) ที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ และการติดตั้งเข็มขัดล็อควีลแชร์ (Wheel chair belt) ไว้ในขบวนรถ เพื่ออำนวยความสะดวกและคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้พิการที่ใช้รถเข็น
 
พร้อมทั้งยืนยันว่า บีทีเอสพร้อมที่จะพูดคุย รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้แสดงออกถึงข้อเรียกร้องอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีส่วนร่วมสร้างการเดินทางที่ปลอดภัย สะดวก รวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
 
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายมานิตย์ในฐานะผู้ก่อเหตุระบุว่า ตนมาใช้บริการ BTS ที่สถานีอโศก แต่เจ้าหน้าที่สถานีให้ตนเองลงชื่อ โดยอ้างว่าเพื่อบันทึกการเดินทางของคนพิการ แต่ตนปฏิเสธ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นรวมถึงยังละเมิดสิทธิในการเดินทางของคนพิการ แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังยืนยันว่าให้เซ็น ตนจึงตัดสินใจซื้อตั๋วเดินทางเหมือนคนปกติ เพราะปกติแล้วคนพิการจะสามารถใช้บริการรถ BTS ได้ฟรี
 
แต่พอจะขึ้นลิฟต์จากชั้นจำหน่ายตั๋วเพื่อไปชานชาลา ปรากฎว่าประตูกั้นก่อนเข้าลิฟต์ล็อก ต้องกดปุ่มเรียกให้เจ้าหน้าที่มาทำการเปิดให้ ซึ่งตนรออยู่ประมาณ 5 นาที ก็ไม่มีเจ้าหน้าที่มาเปิด ด้วยความโมโห จึงกระทำการดังกล่าวไป ซึ่งต้องขอโทษด้วยที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ แต่คนพิการไม่มีทางเลือกที่จะเคลื่อนไหวแล้ว เพราะศาลปกครองเคยมีคำสั่งคุ้มครองแต่ภาครัฐกลับยังนิ่งเฉย (อ่านข่าวเรื่องนี้ก่อนหน้า คลิก)

วีดิโอข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง