ธปท. เตรียมออกใชัธนบัตรหมุนเวียนแบบใหม่รัชกาลที่ 10 ใช้วันแรกวันจักรี 6 เมษายน และวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม ระบุอีก 3 ปี ธนบัตรรุ่นเก่าหมด
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้รับพระราชทานพระราชานุญาตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้จัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรแบบใหม่ (แบบ 17 ) ทุกชนิดราคา เพื่อใช้เป็นธนบัตรหมุนเวีนทั่วไป โดยได้รับพระราชทานวันออกใช้ธนบัตร โดย ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาท ออกใช้ในวันจักรี 6 เมษายน 2561 ส่วนชนิดราคา 500 บาท และ 1000 บาท ออกใช้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร 28 กรกฎาคม 2561
โดยด้านหน้าธนบัตร ได้รับพระราชทานพระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของกองทัพอากาศ เป็นภาพประธานในธนบัตรทุกชนิดราคา ส่วนด้านหลังธนบัตรแต่ละชนิดราคา เชิญพระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ 2 พระองค์ เรียงตามลำดับรัชกาล โดยมีภาพประกอบเป็นภาพหนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของแต่ละพระองค์ที่มีความโดดเด่นเป็นที่ประจักษ์ และจารึกอยู่ในความทรงจำของพสกนิกรชาวไทย
ทั้งนี้ ธนบัตรแบบ 17 นี้ มีขนาดและโทนสีเช่นเดียวกับธนบัตรแบบ 16 สำหรับลักษณะต่อต้านการปลอมแปลงยังคงลักษณะสำคัญของธนบัตรไทยไว้ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ได้ปรับปรุงใหม่ในบางส่วนให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ได้แก่ แถบสีโลหะ ปรากฎที่ด้านหน้าของธนบัตร และในชนิดราคา 100 บาท ภายในแถบสีมีการเคลื่อนไหว ส่วนหมวดอักษรโรมันและหมายเลขอารบิก ปรับวางตามแนวตั้ง
ทั้งนี้ธนบัตรแบบ 17 นี้จะเริ่มออกใช้ควบคู่ขนานไปกับธนบัตรแบบ 16 ทุกชนิดราคา แต่หลังจากนี้กระบวนการผลิตหลักจะเป็นการผลิตธนบัตรแบบ 17 โดยปัจจุบันมีธนบัตรหมุนเวียนในระบบทั้งสิ้น 5.5 พันล้านฉบับ คิดเป็นมูลค่า 1.6 ล้านล้านบาท
นายวิรไท กล่าวอีกว่า ยืนยันว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายการยกเลิกใช้ธนบัตรเดิมอย่างแน่นอน โดยยังคงมีการใช้ควบคู่กับธนบัตรแบบใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ธนบัตรรุ่นเก่าจะหมุนเวียนอยู่ประมาณ 3 ปี จึงจะหมดจากตลาดไป
สำหรับประชาชนสามารถเบิกถอนธนบัตรแบบใหม่นี้ได้ตามช่องทางปกติ ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง รวมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.)
+ อ่านเพิ่มเติม