อย.ทลายโรงงานอาหารเสริม-เครื่องสำอางดัง โฆษณาเกินจริง-หลอกลวงผู้บริโภค เตรียมฟันผู้ขาย-พรีเซนเตอร์
logo ข่าวอัพเดท

อย.ทลายโรงงานอาหารเสริม-เครื่องสำอางดัง โฆษณาเกินจริง-หลอกลวงผู้บริโภค เตรียมฟันผู้ขาย-พรีเซนเตอร์

ข่าวอัพเดท : คณะกรรมการอาหารและยา บุกทลายโรงงานและเครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางรายใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา โดยขายผ่านทางออนไลน์ พบ อาหารเสริม,เครื่องสำอาง,ผิดกฎหมาย,อย.

111,833 ครั้ง
|
22 ก.พ. 2561
คณะกรรมการอาหารและยา บุกทลายโรงงานและเครือข่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเครื่องสำอางรายใหญ่ ในจังหวัดนครราชสีมา โดยขายผ่านทางออนไลน์ พบพฤติกรรมโฆษณาหลอกลวงให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางรวมมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท ย้ำหากพบผู้ประกอบการ ผู้จัดจำหน่าย และพรีเซนเตอร์ คนใดเกี่ยวข้องจะดำเนินคดีอย่างเคร่งครัด
 
(คลิปการแถลงข่าว)


จดหมายข่าวจาก อย.
ข่าวอัพเดท : อย.ทลายโรงงานอาหารเสริม-เครื่องสำอา

ข่าวอัพเดท : อย.ทลายโรงงานอาหารเสริม-เครื่องสำอา
 
เภสัชกรสมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากอย.ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากที่เชื่อมโยงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งและบริษัทเมจิก สกิน จำกัด เกี่ยวกับการโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หลอกลวงผู้บริโภค เช่น ทำให้หน้าขาวใส บำรุงผิวพรรณ ชะลอไม่ให้ผิวแก่ก่อนวัย อีกทั้งมีผู้ร้องเรียนจำนวนมากว่าเมื่อทานผลิตภัณฑ์เหล่านี้เข้าไปแล้วเกิดอาการมือสั่น ใจสั่น เป็นต้น 
 
ซึ่งทางอย.ไม่ได้นิ่งนอนใจและได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าว ซึ่งเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารดังกล่าว และได้รวบรวมข้อมูลกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปคบ. ทำให้เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทั้ง 3 หน่วยงานได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นสถานที่หลายแห่งในจ.นครราชสีมา ผลการตรวจสอบพบผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 และพ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 ซึ่งมีทั้งการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง แสดงข้อความโฆษณาที่เกินจริง หลอกลวงผู้บริโภค ปรากฎว่าผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเป็นของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายดังกล่าว 
 
จากจดหมายข่าวของอย.ระบุว่า "เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สามารถยึดของกลางจำนวน 2 โกดัง มูลค่ากว่า 100 ล้านบาท พร้อมกับเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอาง ส่งตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยผลิตภัณฑ์ที่ยึดอายัดบางส่วน เช่น 1. Linda Drink (สำเร็จรูป) 3,258 กล่อง, 2. Linda Drink (ซอง) 52,000 ซอง, 3. Chlorophyll Detox Fiber (สำเร็จรูป) 20,160 กล่อง, 4. Apple Slim (ซอง) 137,500 ซอง, 5.Shi-No-Bi (สำเร็จรูป) 45 กล่อง, 6. ซองบรรจุภัณฑ์ Shi-No-Bi 33 ห่อ, 7.แคปซูลสีชมพู มีตัวอักษร ® FERN Vitamin 680,000 แคปซูล, 8. Treechada (Underaem Serum) 1,368 กล่อง, 9. เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต 10 เครื่อง"
 
ด้านพ.ต.อ.ไพฑูรย์ พูลสวัสดิ์ ผู้กำกับการกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ระบุว่า กรณีนี้ใช้เวลาหลายวันในการสืบสวน ชุดสืบสวนได้ใช้เวลาเฝ้าติดตามเพราะผู้กระทำความผิดได้ขอเลขสารบบอาหารไว้ และระบุสถานที่ที่ขอไว้ซึ่งที่สถานที่แห่งนั้นไม่ได้มีอะไรผิดปกติ แต่ไปพบสถานที่ที่ใช้ผลิตอีกแห่งหนึ่ง จึงได้ขอหมายศาลและได้บูรณาการ 3 หน่วยงานเข้าตรวจค้น จึงพบของกลาง 
 
โดยในกลุ่มอาหารเสริม ได้ตั้งข้อหาคือ ผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง, ผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต, ผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารปลอม, โฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพหรือสรรพคุณของอาหารโดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนกลุ่มเครื่องสำอางตั้งข้อหา แสดงฉลากที่มีข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ และฉลากไม่ครบถ้วน
 
รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยายังย้ำเตือนว่า สำหรับเครื่องสำอางและอาหารเสริมที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากจะต้องถูกตรวจสอบทางกฎหมายแล้ว เจ้าของผลิตภัณฑ์อาจมีโทษจำคุกด้วย ดังนั้นควรจะทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้จัดจำหน่าย หรือพรีเซนเตอร์หากเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าที่ไม่ถูกต้องก็จะถูกดำเนินการด้วย ส่วนผู้บริโภคก็ควรมีวิจารณญาณในการเลือกซื้อเครื่องสำอางและอาหารเสริม เพราะวัตถุประสงค์ของอาหารคือเครื่องค้ำจุนชีวิต ไม่ได้มีสรรพคุณในการรักษาโรค หรือการลดน้ำหนัก และเครื่องสำอางเองก็ใช้เพื่อความสวยงาม ดังนั้นการโฆษณาว่าขาวใน 7 วัน, ขาวใส ฯลฯ ก็เป็นการโฆษณาที่ไม่ถูกต้อง ตัวผลิตภัณฑ์เองก็อาจจะไม่ถูกต้อง นอกจากเสียเงินซื้อแล้วอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ด้วย หากพบการกระทำผิดหรือมีข้อสงสัยสามารถร้องเรียนหรือแจ้งได้ที่สายด่วนอย.1556 หรืออีเมล์ 1556@fda.moph.go.th หรือสามารถร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชันมือถือ อย.Smart Application บน iOS และ Android หรือมาร้องเรียนได้ที่อย. หรือสาธารณสุขจังหวัด หรือสายด่วนปคบ. 1135
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายว่าจะยังสามารถจำหน่ายต่อไปได้หรือไม่ และจะมีการตรวจสอบการสวมโรงงานผลิตอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายหรือไม่ เภสัชกรประพนธ์ อางตระกูล ที่ปรึกษา อย. ตอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายไม่สามารถจำหน่ายได้ ส่วนการสวมโรงงานจะต้องตรวจสอบจากพยานหลักฐานต่อไป และหากมีการแสดงวัตถุประสงค์ผิดไปจากวัตถุประสงค์จริงของอาหาร ก็อาจเป็นเหตุให้เพิกถอนเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) ได้ จากนี้คงต้องรอผลพิสูจน์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าอาหารเสริมและเครื่องสำอางเหล่านี้มีผลต่อสุขภาพหรือไม่
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ามีการสวมเลขอย.หรือไม่ ที่ปรึกษาอย.ตอบว่ากำลังตรวจสอบ หากใช้ปลอมจริงก็จะดำเนินคดีเรื่องการผลิตอาหารปลอม และอาจนำไปสู่การเพิดถอนเลขสารบบอาหารได้
 
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อว่าได้มีการเรียกเจ้าของโรงงานมารับทราบข้อกล่าวหาแล้วหรือยัง พ.ต.อ.ไพฑูรย์ พูลสวัสดิ์ ผู้กำกับการกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ระบุว่าขณะนี้ต้องนำของกลางไปตรวจพิสูจน์ก่อนว่ามีความผิดอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ และจะเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกัน
 
ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาแถลงวันนี้มาจากโรงงานเดียวกันใช่หรือไม่ รองเลขาธิการ อย. ตอบว่าใช่ ส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย และหากมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีหลักฐานว่าดาราหรือพรีเซนเตอร์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาซึ่งไม่ถูกต้อง ก็จะต้องมีการดำเนินการกับดาราหรือพรีเซนเตอร์รายนั้นๆ ด้วย ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า ผู้โฆษณา หากกระทำผิดกฎหมายย่อมมีความผิดทั้งสิ้น นั่นหมายถึง ดารา นักร้อง นักแสดง ผู้สื่อข่าว ผู้จัดรายการ สิ่งพิมพ์ หากดำเนินการเผยแพร่ข้อความโฆษณา ถือว่าฝ่าฝืนกฎหมายทั้งสิ้น หรือผู้ขาย หรือเจ้าของเฟซบุ๊ก ถ้ามีหลักฐานการซื้อขายเกิดขึ้นก็จะถือว่าเป็นผู้ขาย
 
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เจ้าของสินค้าเหล่านี้มักอ้างว่าสินค้าเหล่านี้ได้รับเลข อย. จะชี้แจงอย่างไร ที่ปรึกษาอย. เป็นผู้ตอบว่า เลข อย.เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการจะต้องมาสำแดงผลิตภัณฑ์ของตนเองว่ามีส่วนประกอบและสถานที่ผลิตเป็นอย่างไร ซึ่งก็จะใช้วิธีการจดแจ้ง กล่าวคือจะอนุญาตเลข อย. ไปก่อนแล้วตามไปตรวจสอบภายหลัง เช่น ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางบางชนิด มาจดแจ้งแล้วไม่มีที่ผลิตจริง ก็ถือว่าผิดกฎหมาย อย.ก็ต้องตามไปตรวจยึดและเพิกถอนเลขจดแจ้งเครื่องสำอาง หลายๆรายมักอ้างว่า เวลาขออนุญาต อย. ได้เลขไปแล้ว ได้ อย. แล้ว แต่จริงๆต้องไปติดตามอีกครั้งว่าดำเนินการได้ถูกต้องตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ หลายครั้งเวลามาขอเลข อย.ก็เขียนมาตามมาตรฐาน แต่เวลาดำเนินการจริงก็ไม่เป็นไปตามนั้น ทำให้เกิดผลข้างเคียง ประเด็นต่อมาคือ ตัวผู้ประกอบการมักอ้างว่าได้เลข อย. แล้วจึงโฆษณาได้ แต่จริงๆแล้วการโฆษณาสรรพคุณหรือคุณประโยชน์ของอาหารต้องขออนุญาต การได้เลข อย.เป็นแค่หมายเลขผลิตภัณฑ์ ดังนั้นการจะโฆษณาต้องได้ทั้งเลข อย. และได้รับอนุญาตโฆษณา
 
ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีชาวต่างชาติซื้อผลิตภัณฑ์กลุ่มผิดกฎหมายไปบริโภคแล้วเสียชีวิต อย.ได้คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหามาตรการสกัดกั้นเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ที่ปรึกษา อย.ระบุว่า เราก็มักได้ข่าวอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย ญี่ปุ่น หรือจีนที่มีการแจ้งว่าเวลาชาวต่างชาติมาที่ไทยแล้วหิ้วสินค้าไป คำตอบก็คือข้อกฎกฎหมายไม่ได้เขียนเรื่องการส่งออกไว้ ดังนั้นการส่งออกสินค้าเหล่านี้จึงไม่ต้องขออนุญาต อย. แต่ต้องเป็นหน้าที่ของหน่วยงานในประเทศที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานดูแลสินค้าเข้าของประเทศปลายทาง แต่หากมีการส่งข้อมูลจากประเทศเหล่านี้มาที่อย.ไทย อย.ไทยก็จะเข้าไปดูที่มาที่ไปของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นให้ รวมถึงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ หากพบปัญหา เราก็จะส่งข้อมูลกลับไปที่ต้นทางด้วย ขณะที่ประเทศอาเซียนก็จะมีศูนย์กลางการแจ้งข้อมูลข่าวสารความปลอดภัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เมื่อมีปลิตภัณฑ์ใดไม่ปลอดภัยเราก็จะแจ้งเข้าไปที่ศูนย์นี้เช่นกัน