1. พ.ร.ก.ต่างด้าวป่วน! โทษสูงทำแรงงานแห่กลับประเทศ สุดท้ายต้องออกมาตรา 44 แก้ปัญหา
ผลจากการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ ที่มีอัตราโทษปรับนายจ้างสูงลิบลิ่วถึง 400,000-800,000 บาทต่อแรงงานต่างด้าว 1 คน หากนายจ้างรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน หรือรับคนต่างด้าวมาทำงานซึ่งห้ามทำ รวมถึงโทษฝั่งแรงงานต่างด้าวเองหากทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ปรับสูงสุดได้ถึง 100,000 บาท ทำให้ปรากฏการณ์ "แรงงานแห่กลับบ้าน" ทั้งชาวเมียนมา กัมพูชา และสปป.ลาว อย่างต่อเนื่องในด่านตรวจคนเข้าเมืองต่างๆ จนมีความกงัวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม (อ่านข่าว คลิก)
ทำให้ภาคเอกชนต้องเข้าพบหารือกับรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหา และได้ข้อสรุปเป็นคำสั่งมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้พ.ร.ก. ในมาตราที่มีบทลงโทษรุนแรงไปจนถึง 31 ธันวาคม เพื่อให้นายจ้างและแรงงานได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย (อ่านข่าว คลิก) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังจะถึงวันที่บทลงโทษที่รุนแรงจะบังคับใช้อีกครั้ง คงต้องดูกันต่อไปว่าผลที่ตามมาจะเป็นอย่างไร
2. เริ่มซะที! รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช หลังต้องอาศัยคำสั่งมาตรา 44 ช่วยปลดล็อก
หลังจากล่าช้ามานานและมีไอเดียมาถึง 3 รัฐบาล ในที่สุดโครงการรถไฟความเร็วสูงเฟสแรก (กรุงเทพ-นครราชสีมา) ก็ได้ฤกษ์เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมา งานนี้รัฐบาลต้องพึ่งมาตรา 44 เพื่อปลดล็อกข้อคิดขัดหลายประการ เช่น ให้จ้างรัฐวิสาหกิจจีนมาดำเนินการออกแบบและเป็นที่ปรึกษาควบคุมงานโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธา ตลอดจนงานระบบราง ระบบไฟฟ้า จัดหารถไฟและบุคลากร เป็นต้น ภายใต้วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาทที่รัฐบาลไทยจัดหาเองทั้งหมด (อ่านข่าว คลิก,
คลิก)
ต้องรอดูกันต่อไปว่ารถไฟสายนี้จะเปิดให้บริการได้ในปี 2564 ตามที่คาดไว้หรือไม่ และจะมีผลกระทบทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่า จำนวนผู้ใช้บริการ ตามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ก่อนหน้านี้หรือเปล่า ขณะที่จีนก็ได้ประโยชน์จากรถไฟสายนี้ เพราะจะนำไปสู่การเชื่อมการเดินทางจากไทยสู่จีนในอนาคตตามยุทธศาสตร์ One belt One Road ของจีนด้วย
3. วงการสิ่งพิมพ์ถดถอย นิตยสารใหญ่ 3 หัวปิดตัวช่วงปลายปี
คงไม่มีใครไม่รู้แล้วว่าวงการนิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติจากการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้สิ่งพิมพ์ถูกแย่งผู้อ่าน จากปี 2559 ที่นิตยสารรายใหญ่ประกาศปิดตัวไปหลายฉบับ ในปีนี้ก็มีอีก 3 หัวใหญ่ที่ประกาศปิดตัวส่งท้ายปลายปี ทั้ง "ดิฉัน" นิตยสารไลฟ์สไตล์ผู้หญิงที่อยู่มา 950 ฉบับ 40 ปีตั้งแต่ปี 2519, นิตยสาร "ขวัญเรือน" ที่อยู่มา 1102 ฉบับ 49 ปี (อ่านข่าว คลิก)
และที่สร้างความช็อกให้แฟนๆ อย่างยิ่งก็คือ "คู่สร้างคู่สม" นิตยสารคู่ร้านเสริมสวยที่มีมากว่า 1,000 ฉบับ อายุเกือบ 38 ปี ก็ปิดตัวลงเช่นกัน งานนี้คุณดำรง พุฒตาล เจ้าของนิตยสารคู่สร้างคู่สมออกมาระบุเหตุผลว่ามาจากยอดจำหน่ายลดลงและถูกคัดลอกคอลัมน์ดูดวงไปเผยแพร่ในโซเชียล (อ่านข่าว คลิก) ต่อจากนี้ไปคงต้องจับตาว่านิตยสารที่ยังเหลือบนแผงหนังสือจะฝ่าคลื่นลมแห่งวิกฤติสื่อสิ่งพิมพ์ไปได้อย่างไร
4. ลอตเตอรี่อลวน! หวยหายหลายคดี โฆษกตำรวจแนะเซลฟี่-เซ็นชื่อหลังสลากช่วยได้
หลังจากเพิ่งเปลี่ยนรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลให้เป็นแบบใบเดียวไปเมื่อ 1 กันยายน ก็มีเรื่องราวบานปลายหลายกรณีสำหรับ "หวยอลวน" มีทั้งกรณีร้อยตำรวจโทอดขึ้นเงินรางวัล 30 ล้านเพราะถูกกล่าวหาว่าขโมยลอตเตอรี่ครูในจ.กาญจนบุรี ซึ่งผล DNA หาเจ้าของตัวจริงจะทราบในวันที่ 19 มกราคมนี้ (อ่านข่าว คลิก) หรือกรณียายคนหนึ่งใน จ.สุพรรณบุรีอ้างว่าทำหวยหาย ขณะคู่กรณีขอส่วนแบ่ง 3 ล้านบาท (อ่านข่าว คลิก) หรือกรณี "ป้าติ้น" ที่อ้างว่าลงขันซื้อหวยกับเพื่อนจนถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 30 ล้านบาท แต่เพื่อนไม่ยอมแบ่งเงินให้ก็ยังอลเวงไม่แพ้กัน (อ่านข่าว คลิก)
ขณะที่กรณีที่ได้คำตอบแล้ว คือกรณีชายชาว จ.บุรีรัมย์ ที่อ้างว่าถูกขโมยหวยที่ถูกรางวัลที่ 1 มูลค่า 12 ล้านบาท แต่ท้ายสุดกลับตรวจไม่พบ DNA ของฝ่ายผู้ร้อง ทำให้เจ้าตัวต้องออกมาขอโทษ ขณะที่พ่อของผู้ถูกกล่าวหาว่าขโมยหวยก็ออกมาขอความเห็นใจและขู่จะดำเนินคดีที่ทำให้ลูกของตนต้องตกเป็นจำเลยของสังคมทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิด (อ่านข่าว คลิก) นี่ยังไม่นับรวมถึงกรณีหวยปลอมที่่ระบาดช่วงต้นปีด้วย งานนี้ร้อนถึงโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องออกมาแนะวิธีการป้องกันหวยถูกขโมย มีทั้งให้เซลฟี่ขณะซื้อลอตเตอรี่ โดยนำลอตเตอรี่ที่ซื้อมาเซลฟี่ทั้งกับคนขายและตนเอง และให้ลงชื่อสลักหลังสลากไว้ (อ่านข่าว คลิก) ปีหน้าฟ้าใหม่จะมีกรณีอลเวงแบบนี้อีกหรือไม่ ต้องรอดู
ยังมีข่าวอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจยาวต่อไปถึงปีหน้า ทั้งหุ้นไทยที่พุ่งทะลุ 1,750 จุดส่งท้ายปีและเกือบแตะจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์อีกครั้ง หรือการเข้ามาของเงินสกุลดิจิทัลอย่างบิตคอยน์ ที่ราคาขึ้นลงพรวดพราดได้ถึง 30% ในสัปดาห์เดียว เล่นเอานักลงทุนใจหายไปตามๆกัน ปีหน้าปากท้อง เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไร ต้องติดตาม...
+ อ่านเพิ่มเติม