กรุงเทพฯ เมืองศิวิลัยที่ผู้คนต่างหลั่งไหลเข้ามาตามล่าหาความฝัน เป็นเมืองเล็ก ๆ ที่ "มีค่ามาก" ครั้งนี้เราจะมาส่องค่าครองชีพในเมืองหลวงกัน เพื่อเป็นแนวทางแบ่งปันให้เพื่อน ๆ ที่สนใจมาทำงานในกรุงเทพฯ มาดูกันว่าในแต่ละเดือนจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้ "อยู่รอด" ไปกับอะไรบ้าง ?
ก่อนอื่นมารู้จักความหมายของคำว่า "ค่าครองชีพ" กันก่อน ซึ่งหมายถึง "ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิต" และการทำงานอยู่ใน กทม. ในแต่ละเดือนจะมีค่าใช้จ่ายหลัก 4 ค่าใช้จ่าย ดังนี้
1. ค่าที่อยู่อาศัย เรียกได้ว่าเป็น "ปัจจัยบังคับ" ของใครหลาย ๆ คนที่ไม่มีญาติมิตรในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะมีราคาให้เลือกหลากหลายตั้งแต่หลักพัน ไปจนถึงหลักหมื่นหรือมากกว่านั้น โดยขึ้นอยู่กับประเภท และทำเลที่ตั้ง
2. ค่าน้ำค่าไฟ เป็นปัจจัยต่อเนื่องจากปัจจัยแรก ซึ่งในปัจจุบัน หากเป็นบ้านหรือคอนโดจะมีราคาค่าไฟหน่วยละ 3-4 บาท และราคาค่าน้ำ 10 หน่วยประมาณ 10 บาท แต่หากเป็นหอพักแล้ว ราคาค่าไฟอาจสูงถึงหน่วยละ 6-8 บาท และราคาค่าน้ำอาจเป็นลักษณะการเหมาจ่ายเลยก็ได้
3. ค่าเดินทาง เป็นเรื่องธรรมดาที่ที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้ที่ทำงานมักมีราคาแพง ทำให้มีไม่น้อยที่คนทำงานต้องยอมถอยห่างออกมาอยู่ไกล ซึ่งแลกมาด้วยค่าเดินทางที่ตามมา ยกตัวอย่างบางคนอาจจะต้องเดินทางหลายต่อ มีทั้งค่าวินมอเตอร์ไซค์ออกจากซอย ต่อด้วยค่ารถเมล์หรือรถสองแถว ต่อด้วยค่ารถไฟฟ้า แล้วปิดจบด้วยค่าวินมอเตอร์ไซค์เข้าไปที่ทำงานอีกรอบ ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ค่อนข้างสูงในแต่ละเดือน
4. ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น ค่ากิน ข้าวของเครื่องใช้ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของแต่ละคน
ทั้งนี้ ปัจจัย 4 อย่างอาจดูเป็นเรื่องพื้น ๆ ที่คนทำงานไม่ว่าอยู่จังหวัดไหนก็ต้องเจอ แต่ที่แตกต่างกันคือ "ราคา" เพราะในกรุงเทพฯ มีเรตราคาที่สูงกว่ามาก เพื่อแลกกับโอกาส เรื่องงาน เรื่องเงิน และอีกหลาย ๆ อย่าง ที่ต่างจังหวัดยังไม่มี ทุกวันนี้ กทม. ก็ยังคงเป็น "ศูนย์รวมความเจริญ" ของประเทศไทยที่ยังกระจุกเพราะยังไม่กระจาย
โดยจากข้อมูลของ tdri.or.th เดือนตุลาคม ปี 2022 ระบุว่า สถิติการประกาศรับสมัครงาน 62.8% คือ งานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีจำนวนมากที่สุดถึง 109,235 ตำแหน่ง ซึ่งเมื่อเทียบกับต่างจังหวัดที่มีการประกาศรับสมัครงานเพียงแค่ 37.2% หรือประมาณ 6 หมื่นตำแหน่งเท่านั้น
แต่ก็มีหลายคนที่วางแผนบั้นปลายชีวิตจะกลับไปทำธุรกิจ ใช้ชีวิตสงบสุขอยู่ที่บ้านเกิด หวังมาทำงานในกรุงเทพฯ เพียง 10-20 ปี เก็บเงินสักก้อนกลับไปลงทุน ใช้ความรู้เรื่องเทคโนโลยี ใช้สื่อโซเชียลมีเดียสร้างอาชีพหารายได้ ก็เป็นสิ่งที่น่ายินดี แต่มีไม่น้อยที่แผนต้องล่มไม่เป็นท่า เพราะเมื่อถึงเวลาเงินเก็บกลับไม่เหลือ จึงอยากแนะนำว่า "ให้บริหารจัดการเงินตั้งแต่เริ่มต้นใช้ชีวิตการทำงานในเมืองกรุง" โดยมีวิธีการบริหารจัดการเงินที่ดี ศึกษาเรื่องการลงทุน และหาช่องทางสร้างรายได้เสริม เพื่อรักษาโอกาสทางการเงินของตัวเรา และสร้างโอกาสเพื่อเป็นทางเลือกว่าจะอยู่ต่อ หรือขอกลับบ้าน...
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน สนามข่าว 7 สี ช่วง "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35
และรับชมออนไลน์ ผ่าน YouTube: TERO Digital ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.35 น.