รฟท. เตรียมลงนามสัญญาจ้างสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางพรุ่งนี้ เร่งสร้างไตรมาสแรกของปี 2561
logo ข่าวอัพเดท

รฟท. เตรียมลงนามสัญญาจ้างสร้างรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางพรุ่งนี้ เร่งสร้างไตรมาสแรกของปี 2561

10,264 ครั้ง
|
27 ธ.ค. 2560
การรถไฟแห่งประเทศไทย เดินหน้าลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน จำนวน 5 เส้นทาง วันพรุ่งนี้ พร้อมเร่งรัดเริ่มตอกเข็มสร้างภายในไตรมาสแรกของปี 61
 
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การลงนามในสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน (เฟสแรก) จำนวน 5 เส้นทางในวันพรุ่งนี้ จะเป็นการลงนามในเส้นทาง 1. ลพบุรี-ปากน้ำโพ , 2. มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ , 3. นครปฐม-หัวหิน , 4. หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ และ 5.ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร รวมระยะทาง 668 กิโลเมตร 
 
โดยรฟท. ได้มีการปรับจำนวนสัญญาจาก เดิม 5 สัญญาเป็น 13 สัญญา เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าร่วมประมูลได้มากขึ้นตามมติของ คณะกรรมการกำกับการจัดซื้อจัดจ้าง และมีการปรับลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางดังกล่าวลงจากเดิม 101,748 ล้านบาท เป็น 98,984 ล้านบาท หรือปรับลดลง 2,764 ล้านบาท เนื่องจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการปรับลดราคากลางโครงการลง, ตัดค่าใช้จ่ายอุปกรณ์ส่วนที่ไม่จำเป็นออก รวมทั้งมีการแบ่งสัญญาใหม่ให้เล็กลง
 
โดยหลังจากการลงนามในครั้งนี้แล้วคาดว่า ผู้รับเหมาจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2561 จากนั้น จะเดินหน้าประมูลรถไฟทางคู่เฟส 2 ต่ออีก 9 เส้นทาง ตั้งเป้าว่าในเดือน ก.พ.-มี.ค. 2561 กระทรวงคมนาคมจะสามารถทยอยเสนอทางคู่เฟส 2 ให้ครม.พิจารณาได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ในปี 2561 กระทรวงคมนาคม มีแผนลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ไว้ทั้งสิ้น 309,607 ล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 152,162 ล้านบาท, ทางราง 96,203 ล้านบาท, ทางน้ำ 7,323 ล้านบาทและทางอากาศ 53,537 ล้านบาท โดยเป็นงบลงทุนสำหรับโครงการใหม่จำนวน 1 แสนล้านบาท ยังไม่รวมโครงการที่ยกมาจากปีงบประมาณ 2560 เช่น โครงการรถไฟทางคู่เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง เป็นต้น 
 
สำหรับประเด็นที่นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะปรับลดสเปคโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับญี่ปุ่น ให้เหลือเป็นรถไฟความเร็วปานกลาง นั้น นายอาคม กล่าวว่า จะดูความเหมาะสมและรายละเอียดผลการศึกษาของทางญี่ปุ่นว่า รถไฟในเส้นทางดังกล่าวควรจะใช้ความเร็วเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องใช้ความเร็วถึง 300 กม./ ชม.ก็ได้ รวมถึงเมื่อเป็นรถไฟที่มีความเร็วสูงมาก ก็จะมีต้นทุนสูงมากด้วยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ยืนยันว่าโครงสร้างพื้นฐานรางที่เป็นขนาดมาตรฐาน ความกว้าง 1.435 เมตร สามารถรองรับรถไฟความเร็วสูงได้อยู่แล้วซึ่งเรื่องนี้ต้องหารือกับทาง ญี่ปุ่น ก่อน โดยยืนยันว่า ขบวนรถไฟจะยังเป็นชินคังเซนเหมือนเดิม