ส.นิติวิทย์ฯ ยันชันสูตรศพนร.ทหารเสร็จ 30 พ.ย. ชี้ตายผิดธรรมชาติเก็บชิ้นเนื้อตรวจได้ไม่ต้องแจ้งญาติ
logo ข่าวอัพเดท

ส.นิติวิทย์ฯ ยันชันสูตรศพนร.ทหารเสร็จ 30 พ.ย. ชี้ตายผิดธรรมชาติเก็บชิ้นเนื้อตรวจได้ไม่ต้องแจ้งญาติ

ข่าวอัพเดท : วันนี้ (22 พ.ย.60) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่ผ่านมา นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (กลาง) พร้อมด้วยนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์,น้องเมย,โรงเรียนเตรียมทหาร,นักเรียนเตรียมทหาร

67,008 ครั้ง
|
22 พ.ย. 2560
วันนี้ (22 พ.ย.60) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่ผ่านมา นายสมณ์ พรหมรส ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (กลาง) พร้อมด้วยนพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ (ขวา) และพญ.ปานใจ โวหารดี รองโฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (ซ้าย) ร่วมแถลงข่าวกรณีการชันสูตรศพนักเรียนเตรียมทหาร (นตท.) ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือน้องเมย
 
นายสมณ์ระบุว่า ภารกิจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์คือการตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริงเพื่ออำนวยความยุติธรรม คุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน แม้ว่าบางเรื่องไม่เป็นคดี ประชาชนก็สามารถเข้ามาขอใช้บริการได้ เช่น การตรวจดีเอ็นเอพ่อแม่ลูก การตรวจสารเสพติดในเส้นผม การตรวจลายเซ็นจริง-ปลอม ส่วนเรื่องอื่นๆ เป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆร้องขอมา
 
กรณีของ นตท.ภคพงศ์นั้น เป็นการที่หนักงานสอบสวนส่งเรื่องให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ดำเนินการชันสูตรครั้งที่ 2 ซึ่งการผ่าครั้งแรกเกิดขึ้นที่สถาบันพยาธิวิทยา ศูนย์อำนวยการทางการแพทย์พระมงกุฎเกล้า ซึ่งลำดับเหตุการณ์ คือพนักงานสอบสวนมีหนังสือขอส่งศพให้ผ่าตรวจซ้ำเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์รับเรื่อง 27 ตุลาคม ตนจึงรีบให้ตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญ 3 คนสำหรับการผ่าพิสูจน์ในวันที่ 30 ตุลาคม แล้ววันที่ 1 พฤศจิกายนก็ผ่า แล้วก็พบว่ามีอวัยวะบางส่วนไม่ครบ คือสมองกับหัวใจ จึงแจ้งประสานกับพนักงานสอบสวนวันที่ 3 พฤศจิกายนให้เอาอวัยวะมาให้ครบจะได้ทำบันทึกการชันสูตรได้
 
เมื่อถามว่าผลการชันสูตรของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ตอนนี้เป็นอย่างไร นายสมณ์ตอบว่า เรื่องรายงานการชันสูตรยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะยังขาดอวัยวะ 3 ส่วนคือสมองกับหัวใจ และกระเพาะอาหารด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทีมแพทย์รับผิดชอบ ผู้บริหารไม่ทราบข้อมูล ทราบต่อเมื่อรายงานเสร็จแล้ว
 
ผูู้สื่อข่าวถามต่อว่า ปัจจัยที่ทำให้ต้องผ่าอวัยวะไปตรวจทั้งชิ้นคืออะไร นพ.ไตรยฤทธิ์ตอบว่า กรณีเป็นการตายโดยธรรมชาติ คือป่วยตายในโรงพยาบาล ซึ่งหมอทราบสาเหตุชัดเจน แต่มีการสร้างข้อคลางแคลงใจว่าเหตุการตายที่แท้จริงไม่สอดคล้องกับการรักษา หมอก็จะส่งพยาธิแพทย์ให้มีการผ่าชันสูตรศพ แต่การเสียชีวิตโดยธรรมชาติแล้วจะผ่าพิสูจน์นั้นจะต้องขอลายลักษณ์อักษรจากญาติ ซึ่งการผ่าพิสูจน์ในคดีที่พยาธิแพทย์ผ่าส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้วินิจฉัยได้ในทันที หากหมอสงสัยว่าอวัยวะส่วนใดมีส่วนสำคัญต่อการเสียชีวิต แพทย์อาจจะขออนุญาตจากญาติ นำอวัยวะชิ้นนั้นมาตรวจวินิจฉัยในห้องปฏิบัติการโดยละเอียด ซึ่งจะมีการสับหรือฝานให้ละเอียด มีการย้อมสี ย้อมสีพิเศษ และตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน ทำให้โรคที่แต่เดิมไม่ปรากฎสามารถพิสูจน์ได้ เป็นประโยชน์ต่อการรักษาพยาบาลและวงการแพทย์
 
ส่วนการเสียชีวิตแบบผิดธรรมชาติ ได้แก่ ฆ่าตัวตาย ผู้อื่นทำให้ตาย อุบัติเหตุ หรือตายไม่ปกติ พนักงานสอบสวนเป็นผู้ส่งตรวจ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ก็จะผ่าพิสูจน์และจะเก็บชิ้นเนื้อบางส่วนของอวัยวะ ยกเว้นบางกรณีที่มีความน่าสนใจจริงๆ ก็จะมีการทำหนังสือขอเป็นลายลักษณ์อักษรขอให้เก็บทั้งอวัยวะไว้ เช่นกรณีจะมีประโยชน์กับการเรียนการสอนในอนาคต ก็จะขออนุญาตจากญาติเป็นลายลักษณ์อักษร
 
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า มีเทคนิคการแพทย์อย่างไรหรือไม่ที่ต้องเอาอวัยวะออกทั้งชิ้น เพราะเนื่องจากกรณีนี้อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อการเรียนการสอน นพ.ไตรยฤทธิ์ระบุว่า แนวปฏิบัติของแพทย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยหน้างาน
 
"ขึ้นอยู่กับหน้างานตอนนั้นว่า ดูว่าอวัยวะส่วนใดน่าสนใจเป็นพิเศษหรือไม่ โดยที่ถ้าตัดเพียงบางส่วนอาจจะไม่สามารถให้คำตอบได้ แบบนี้ก็จำเป็นจะต้องขออวัยวะชิ้นนั้นออกมาตรวจก่อน (ผู้สื่อข่าว : แสดงว่าในทางนิติวิทยาศาสตร์สามารถยกอวัยวะออกทั้งส่วนได้?) ได้ครับ (ผู้สื่อข่าว : ที่ยกออกมา 4 ส่วนตามข่าวมีความสอดคล้องกันหรือไม่) หัวใจกับสมองเป็นอวัยวะสำคัญที่จะบอกพยาธิสภาพของโรคหรือสาเหตุการเสียชีวิตได้ ดังนั้นสองส่วนนี้ผมคิดว่าสำคัญ ส่วนกระเพาะผมไม่แน่ใจว่ามีการยกออกไปหรือไม่ เพราะฟังจากรายงานอย่างเดียว แต่กระเพาะก็เป็นส่วนที่อาจจะเล็กมองเห็นยาก ปะปนอยู่กับอย่างอื่นก็เป็นไปได้ (ผู้สื่อข่าว : การตรวจของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์จำเป็นจะต้องขออวัยวะจากโรงพยาบาลพระมงกุฎมาเกล้าตรวจด้วยใช่หรือไม่?) จำเป็นครับ (ผู้สื่อข่าว : แล้วเมื่อรพ.พระมงกุฎนำไปตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว จะทำให้ผลการตรวจสอบคลาดเคลื่อนหรือไม่?) ขึ้นอยู่กับว่าตรวจเจออะไร ขึ้นอยู่กับมีพยาธิสภาพหรือไม่ และส่วนที่มีพยาธิสภาพถูกเก็บนำไปตรวจหรือยัง ถ้ายังไม่ถูกนำไปใช้เราก็สามารถตรวจซ้ำได้อีก อย่างไรก็ตามผลการตรวจพิสูจน์ของแพทย์ก็จะเป็นหลักฐานหนึ่งที่ระบุว่าผู้เสียชีวิตนั้นเสียชีวิตจากสาเหตุใด" นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าว
 
จากนั้น พญ.ปานใจกล่าวต่อว่า ในแนวปฏิบัตินั้นต้องแยกระหว่างเสียชีวิตในทางคดีกับการเสียชีวิตด้วยโรคทั่วไป การเสียชีวิตทางคดียึดประโยชน์ทางคดีและต่อญาติผู้เสียชีวิตเป็นประโยชน์สูงสุด ซึ่งสามารถเก็บชิ้นเนื้อได้โดยไม่ต้องบอกญาติ
 
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามต่อว่า ระยะเวลาของการเก็บชิ้นเนื้อที่ผ่านไปแล้วกว่าหนึ่งเดือน มีผลต่อการหาร่องรอยต่างๆ ที่จะบ่งบอกสิ่งที่เกิดขึ้นกับอวัยวะหรือไม่ นพ.ไตรยฤทธิ์ตอบว่า ชิ้นเนื้อหรืออวัยวะที่ถูกนำออกไป หากถูกเก็บไว้โดยฟอร์มาลีนหรือสารรักษาชิ้นเนื้อก็สามารถรักษาพยาธิสภาพเพื่อรอตรวจได้ 
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า การรับร่างจากนตท.ภคพงศ์จากพนักงานสอบสวนนั้น พนักงานสอบสวนได้มีการแจ้งหรือไม่ว่ามีการแจ้งอวัยวะออกไป นายสมณ์ตอบว่า ไม่สามารถตอบได้ว่าในเอกสารมีการระบุว่าเอาอวัยวะออกไปหรือไม่ ไม่เห็นเอกสาร ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าโดยปกติแพทย์ที่จะตรวจซ้ำจะมีการประวสานไปยังแพทย์ชุดแรกที่ตรวจหรือไม่ หรือว่าต่างคนต่างตรวจ นายสมณ์ตอบว่า ตนได้คุยกับหัวหน้าทีมในการตรวจวันแรกวันที่ 1 พฤศจิกายน เราอนุญาตให้ญาติเข้ามาดูได้เพราะเป็นการคาใจ เราก็พบว่ามีอวัยวะหายไป จากนั้นตนคุยกับหมอที่เป็นหัวหน้าทีมให้ประสานงานกับรพ.พระมงกุฏเกล้าว่ามีอวัยวะหายไป แล้วจึงแจ้งพนักงานสอบสวนในวันที่ 3 พฤศจิกายนให้เอาอวัยวะคืนมา เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน
 
จากนั้นผู้สื่อข่าวถามว่า มีกระบวนการยืนยันหรือไม่ว่าอวัยวะที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์กำลังจะได้รับมาเป็นของนตท.ภคพงศ์จริงๆ ไม่ใช่ของคนอื่น นพ.ไตรยฤทธิ์กล่าวว่า เราจะไม่ได้ให้ที่ตรวจที่แรกเป็นผู้นำส่ง แต่จะให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้นำส่ง การยืนยันก็จะเกิดจากพนักงานสอบสวน หรือถ้าคาใจก็สามารถตรวจ DNA ได้แม้จะฉีดฟอร์มาลีนแล้ว
 
ผู้สื่อข่าถามย้ำว่า พนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งทางสถาบันนิติวิทยาศาสตร์และพ่อแม่นตท.ภคพงศ์ใช่หรือไม่ว่ามีการนำอวัยวะออกไป นายสมณ์ระบุว่า พนักงานสอบสวนแจ้งว่ามีการผ่าพิสูจน์ แต่พนักงานสอบสวนคงไม่ทราบว่าผ่าอะไรเอาออกไปแค่ไหน 
 
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แม้ตามกระบวนการจะไม่ต้องแจ้งญาติในการนำอวัยวะออกมาก็ได้ แต่ตอนเอาศพมาคืนต้องแจ้งญาติว่ามีการนำอวัยวะออกไปหรือไม่ พญ.ปานใจตอบว่า ในกรณีที่แพทย์เก็บอวัยวะเป็นชิ้นใหญ่ๆ ขณะนี้ยังไม่มีแนวทางมาตรฐานของประเทศไทยว่าจะต้องแจ้งญาติหรือไม่ ถือว่าแล้วแต่กรณีของคดี เพราะการให้คำตอบกับพนง.สอบสวนและญาติให้เป็นความสำคัญสูงสุด จึงไม่มีแนวทางในการแจ้งญาติ ซึ่งครั้งต่อๆไปควรมีการพัฒนาเรื่องกระบวนการสื่อสารระหว่างญาติกับแพทย์มากขึ้น ว่าญาติควรมีสิทธิสอบถามแพทย์ได้ว่าแพทย์เก็บอวัยวะอะไรไว้ทั้งชิ้น หรือแพทย์ก็ควรจะตอบญาติด้วยว่านำเอาอวัยวะเป็นชิ้นหรือทั้งส่วน ส่วนใดออกไปตรวจบ้าง
 
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า อวัยวะที่นำออกไปจะคืนหรือไม่คืนก็ได้ใช่หรือไม่ พญ.ปานใจตอบว่า ที่ผ่านมาอาจจะมีทั้งที่แพทย์แจ้งว่าให้ญาติมารับได้ หรือกรณีที่ญาติแจ้งให้แพทย์ทำพิธีไปได้เลย ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แสดงว่าก่อนหน้านี้อาจมีกรณีในลักษณะนี้ที่นำอวัยวะออกมาแล้วไม่ได้คืน พญ.ปานใจตอบว่า เป็นไปได้เพื่อประโยชน์ในทางคดี
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากการตรวจเบื้องต้นพบอะไรหรือไม่ หรือมีอวัยวะส่วนไหนที่ยังสำคัญต่อการบอกให้ญาติทราบถึงสาเหตุการตาย นายสมณ์ตอบว่า รายงานการชันสูตรจะออกได้ต้องมีครบทุกอย่าง ที่ผู้สื่อข่าวถามจึงยังตอบไม่ได้ แต่สมองกับหัวใจเป็นส่วนสำคัญ 
 
"เข้าใจว่าแพทย์ที่ผ่าครั้งแรกแรกก็มีเจตนาดี เพราะคดีนี้สำคัญจึงน่าจะอยากเก็บไว้ตรวจละเอียด แต่อาจจะขาดการสื่อสารที่ดีกับญาติ ที่ผมทราบคือแพทย์ชันสูตรกับญาติจะไม่พบกัน ซึ่งต่างกับเราที่ญาติจะได้เห็นการผ่าศพด้วย สบายใจ รายงานเป๊ะ แต่ที่โน่นเข้าใจว่าไม่ได้ทำเหมือนกับเรา ก็เป็นแนวปฏิบัติ เราเคยมีการคุยกันเรื่องแนวปฏิบัติในประเทศไทย เรื่องนิติเวชก็มีการคิดว่าจะต้องพัฒนา ซึ่งแนวปฏิบัติเรื่องการแจ้งญาติยังไม่เคยมีการคุยกัน กรณีนี้มีปัญหาว่าญาตินั้นสงสัย" นายสมณ์ระบุ
 
นายสมณ์ ในฐานะผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า พรุ่งนี้ (วันที่ 23 พฤศจิกายน 2560) จะได้อวัยวะส่วนที่เหลือมา และจะใช้เวลา 1 อาทิตย์ออกรายงานสมบูรณ์ น่าจะไม่เกิน 30 พฤศจิกายน หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือนธันวาคม
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเอาอวัยวะออกมาละเมิดจรรยาบรรณหรือละเมิดสิทธิหรือไม่ นพ.ไตรยฤทธิ์ระบุว่า ผู้ที่จะบอกว่าผิดจรรยาบรรณหรือไม่ต้องเป็นสภาวิชาชีพ เราบอกกันเองไม่ได้ คิดว่ามีแนวมาตรฐานอยู่แล้วที่จะสอบถามไปยังสภาวิชาชีพคือแพทยสภาได้
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าหนังสือที่ขอส่งตรวจกับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์เมื่อ 25 ต.ค. ระบุว่าอย่างไร นายสมณ์ตอบว่า เขาส่งหนังสือมาขอให้ตรวจแยกธาตุครั้งที่ 2 และเข้าใจว่าญาติไปร้องขอกับพนักงานสอบสวน ขอให้ทำเรื่องมาที่เรานำศพมาผ่า ซึ่งทำได้ในอำนาจของกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้ประสานกับรพ.พระมงกุฏเกล้าเอง แต่มีพนักงานสอบสวนเป็นคนกลาง 
 
ผู้สื่อถามต่อไปว่า แพทย์ รพ.พระมงกุฏไม่ทราบจริงหรือว่าอวัยวะส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญในการหาสาเหตุการเสียชีวิต แล้วถ้าส่งศพมาโดยไม่มีอวัยวะส่วนนี้จะหาสาเหตุไม่ได้ นพ.ไตรยฤทธิ์ตอบว่า 
 
"ผมเข้าใจว่าผู้ผ่าพิสูจน์ครั้งแรกคือแพทย์ก็มีความใส่ใจมากและพยายามทำให้ไม่เกิดปัญหามากที่สุด และเขาก็คงไม่คิดว่าจะเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้น เวลาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์รับศพจากพนักงานสอบสวน เป็นสิ่งที่อยู่ภายใน ไม่ใช่แขนขาด ขาขาด หรืออวัยวะภายนอกหายไป อันนั้นเราก็จะถามทันที แต่เมื่อวันที่ 1 ผ่าเปิดไป ผมเข้าใจว่าทีมแพทย์ที่ผ่าก็คงจะมีการสื่อสารไปทางรพ.พระมงกุฏว่าเก็บไว้ใช่มั้ย ผมว่าเป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องคือไม่เอาไปทิ้งหรือทำลาย ซึ่งก็คงตรวจสอบกลับไปได้อยู่แล้ว เมื่อครบระยะเวลาหนึ่งเขาก็คงแจ้งพนักงานสอบสวนถึงผลการตรวจละเอียดต่อไป สิ่งที่ผมอยากเสริมก็คือผมมองว่ารพ.พระมงกุฏเกล้าอาจจะต่างกับเรานิดหนึ่งคือ รพ.พระมงกุฏเกล้าการเป็นโรงเรียนแพทย์ จิตวิญญาณของผู้ที่ผ่าจะนึกถึงการเรียนการสอนด้วย ไม่ใช่แค่การบริการ ถ้าเป็นในต่างประเทศจะมีพยาธิแพทย์เฉพาะทางหัวใจกับสมองว่าอวัยวะที่บอกสาเหตุการเสียชีวิตได้ในปัจจุบัน ไม่สามารถอธิบายด้วยอาการทางคลินิกได้" นพ.ไตรยฤทธิ์ระบุ
 
ผู้สื่อข่าวถามว่าสิ่งที่มีอยู่สามารถบอกอะไรได้บ้าง เช่น อาการซี่โครงซีกที่ 4 หัก นพ.ไตรยฤทธิ์ตอบว่า ขณะนี้ยังไม่มีรายงานชัดเจน ส่วนซี่โครงซีกที่ 4 เกิดจากการทำ CPR ได้หรือไม่นั้นเกิดขึ้นได้ ส่วนเกิดจากการทำ CPR ต่อเนื่อง 4 ชม.หรือไม่นั้น ตนอยากตอบแต่เกรงว่าจะตอบแล้วไม่ทันสมัย เพราะไม่ได้รักษามานานแล้ว โดยหลักการเราก็จะทำ CPR จนกว่าผู้ป่วยจะฟื้นหรือเสียชีวิต การ CPR ไม่ได้มีแค่ปั๊มหัวใจ แต่หมายรวมถึงการให้อากาศทางท่อและการให้สารอาหาร ซึ่งต้องไปดูกระบวนการด้วย 
 
นายสมณ์กล่าวปิดท้ายว่า ตนได้รับข้อสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมให้ความเป็นธรรม หาข้อเท็จจริงให้ปรากฎทุกอย่าง ย้ำว่าจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
 
ขอบคุณที่มาจาก ข่าวสดออนไลน์