"ไปตายซะ-คำด่า-ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉัน" พม.เผย 3 คำร้ายที่คนไทยไม่อยากได้ยินจากครอบครัวที่สุด
logo ข่าวอัพเดท

"ไปตายซะ-คำด่า-ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉัน" พม.เผย 3 คำร้ายที่คนไทยไม่อยากได้ยินจากครอบครัวที่สุด

ข่าวอัพเดท : รมว.พม. รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการใช้วาจา เปิดสถิติพบตัวเลขภาคใต้มีความรุนแรงในครอบครัวสูงสุด ความรุนแรงในครอบครัว,คำพูด

11,177 ครั้ง
|
16 พ.ย. 2560
รมว.พม. รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว โดยเฉพาะการใช้วาจา เปิดสถิติพบตัวเลขภาคใต้มีความรุนแรงในครอบครัวสูงสุด
 
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานรณรงค์ยุติตวามรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว ประจำปี 2560 ภายใต้แนวคิดสร้างครอบครัวไร้รุนแรงด้วยการสื่อสารที่สร้างสรรค์ โดยมีคำขวัญ "หยุดคำร้าย ทำลายครอบครัว" รณรงค์ให้ครอบครัวและสังคมมีการสื่อสารเชิงบวก เพื่อสร้างสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัว โดย พม. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมเป็นเจ้าภาพในการเปิดงานครั้งนี้
 
พล.ต.อ.อดุลย์ กล่าวว่าองค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 พ.ย. ของทุกปี เป็นวันขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล ดังนั้นคณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้เดือน พ.ย. ของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี จึงให้หน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อมวลชน เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การยุติความรุนแรงในครอบครัวทั่วประเทศตลอดทั้งเดือน พ.ย. นี้ โดยมุ่งแก้ปัญหา ความรุนแรงต่อเด็กสตรีด้วยการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ นำริบบิ้นสีขาวที่เป็นสัญลักษณ์สากลเพื่อแสดงออกว่า ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำความรุนแรงมาใช้ในการรณรงค์ด้วย
 
พล.ต.อ.อดุลย์ยังกล่าวอีกว่า ความรุนแรงในครอบครัวส่วนหนึ่งมาจากการใช้วาจาไม่เหมาะสมระหว่างบุคคลในครอบครัว ดังนั้นต้องมีการสื่อสารเชิงบวกต่อกัน ให้เกียรติทั้งกายและวาจา เพราะการสื่อสารจะสนับสนุนให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น 
 
ทั้งนี้ พม. ได้ทำแบบสำรวจ 10 คำดี ที่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว อันดับ 1 คือ คำว่า "เหนื่อยไหม" ร้อยละ 20.2 , ส่วนอันดับ 2 คือคำว่า "รักนะ" ร้อยละ 16.1 และอันดับ 3 คือคำว่า "มีอะไร ให้ช่วยไหม" ร้อยละ 15.2
 
ส่วน 10 คำร้ายที่ไม่อยากได้ยินจากคนในครอบครัว อันดับ 1 คือคำว่า "ไปตายซะ" ร้อยละ 20.4 , อันดับ 2 คือพวกคำด่า ร้อยละ 19 ส่วนอันดับ 3 "แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย" ร้อยละ 16.5 
 
สำหรับสถิติข้อมูลจากศูนย์ช่วยเหลือสังคม ผ่านสายด่วน พม. 1300 พบตัวเลขความรุนแรงปี 2559 ว่ามีความรุนแรงในครอบครัว 1,578 ครั้ง, ความรุนแรงนอกครอบครัว 756 ครั้ง รวม 2,334 ครั้ง ส่วนในปี 2560 มีความรุนแรงในครอบครัว 1,869 ครั้ง และความรุนแรงนอกครอบครัว 1,030 ครั้ง รวม 2,899 ครั้ง ซึ่งจากตัวเลขเมื่อเทียบกันระหว่างปี 2559-2560 พบความรุนแรงเฉพาะที่เกิดในครอบครัวเพิ่มขึ้น 291 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลักษณะของการใช้วาจา, การดื่มสุรา และยาเสพติด
 
ขณะที่ศาสตราจารย์นายแพทย์รณชัย คงสกนธ์ ผอ.ศูนย์จัดการความรู้เรื่องความรุนแรงในครอบครัว ร.พ.รามาธิบดี ระบุว่า จากตัวเลขสำรวจทั่วประเทศ 2,280 ครัวเรือนจาก 5 ภูมิภาค จัดทำขึ้นระหว่างปี 2559 ถึงเดือนมกราคม 2560 พบว่าร้อยละ 34.6 มีความรุนแรงต่อผู้หญิงและคนในครอบครัว โดยเป็นความรุนแรงด้านจิตใจ ร้อยละ 32.3, ทางร่างกาย ร้อยละ 9.9 และทางเพศร้อยละ 4.5 ซึ่งภาคใต้มีความรุนแรงมากที่สุดร้อยละ 48.1 และกรุงเทพมหานครมีความรุนแรงในครอบครัวน้อยที่สุดร้อยละ 26 ซึ่งปัจจัยมาจากลักษณะของแต่ละครอบครัว สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม
 
จากนั้นจึงมีการเดินรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวไปยังย่านตลาดโบ๊เบ๊ พร้อมกับแจกใบปลิว ริบบิ้นสีขาว พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนทำกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในครอบครัวด้วย
 
(ภาพจาก Youtube : Pomfrom Saleeon)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง