PTTGC ประกาศผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2560 กำไรสุทธิเฉียดหมื่นล้าน
มีกำไรสุทธิรอบ 9 เดือน สูงถึง 29,740 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 6 ปี
PTTGC ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3/60 ด้วยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตของหน่วยต่างๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้มีกำไรสุทธิสูงถึง 9,955 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรอบ 9 เดือนแรกสูงถึง 29,740 ล้านบาท สูงที่สุดในรอบ 6 ปี พร้อมเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ EEC และมุ่งขยายตลาดพลาสติกสู่ภูมิภาค CLMV ที่มีศักยภาพและมีอัตราการขยายตัวสูง
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (CEO) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) – PTTGC เปิดเผยว่า ในไตรมาส 3/2560 PTTGC มีกำไรสุทธิรวม 9,955 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.23 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 จากไตรมาส 3/2559 ที่มีผลกำไรรวมสุทธิอยู่ที่ 6,226 ล้านบาท คิดเป็น 1.40 บาท/หุ้น และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2/2560 ที่มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 6,603 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1.48 บาท/หุ้น โดยมีผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2560 มีกำไรสุทธิรวม 29,740 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ไตรมาส 3/2560 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 104,583 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2559 ร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2560 รายได้จากการขายปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เนื่องจากปริมาณการขายที่เพิ่มสูงขึ้น ตามอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น จากจำนวนวันหยุดผลิตเพื่อซ่อมบำรุงตามแผนที่ลดลงและประสิทธิภาพของการเดินเครื่องที่ดีขึ้นของโรงงานอะโรเมติกส์ หน่วยที่ 2 ที่เสร็จสิ้นการซ่อมบำรุง ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตโดยเฉลี่ยสูงขึ้นจาก ไตรมาส 3/2559 และจากไตรมาส 2/2560 และตามระดับราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้น โดยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ในธุรกิจการกลั่นปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกผลิตภัณฑ์จากไตรมาส 3/2559 ด้านธุรกิจอะโรเมติกส์ ส่วนต่างราคาพาราไซลีนปรับลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ส่วนต่างราคาเบนซีนปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 3/2559 โดยได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการผลิตภัณฑ์ปลายน้ำอย่างผลิตภัณฑ์สไตรีนที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับธุรกิจโอเลฟินส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่อง ราคาเม็ดพลาสติกโพลีเอทิลีนปรับตัวลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ ราคาผลิตภัณฑ์ MEG ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากไตรมาส3/2559 ร้อยละ 29 และเพิ่มจากไตรมาส 2/2560 ร้อยละ 4
สำหรับผลการดำเนินงานรอบ 9 เดือนแรกปี 2560 PTTGC รับรู้กำไรจากการดำเนินโครงการ MAX จำนวน 2,010 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กรที่ได้เริ่มดำเนินการมาในช่วงปลายปีที่แล้ว รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทร่วมค้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นใน 6 บริษัทในสายธุรกิจปิโตรเคมี สายโพรพิลีน สายเคมีภัณฑ์ชีวภาพ และธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง จากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในวันที่ 3 กรกฎาคม 2560 ส่งผลให้ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนปรับเพิ่มขึ้น 1,518 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรสุทธิรวม 29,740 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สรุปผลการดำเนินงานตามกลุ่มธุรกิจได้ ดังนี้
- โรงกลั่นน้ำมัน มีอัตราการใช้กำลังการผลิตของหน่วย CDU ร้อยละ 103
- โรงอะโรเมติกส์ มีอัตราการใช้กำลังการผลิตสารอะโรเมติกส์ (BTX Utilization) เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 82
- โรงโอเลฟินส์ทั้ง 4 แห่ง มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 96
- ผลิตภัณฑ์โพลีเอทิลีนมีอัตราการใช้กำลังการผลิตร้อยละ 113
- ส่งผลให้ PTTGC รายงาน Adjusted EBITDA อยู่ที่ 14,802 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 จากไตรมาส 3/2559 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14 จากไตรมาสก่อนหน้า มีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 3/2560 จำนวน 9,955 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 60 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากไตรมาส 3/2559 และไตรมาส 2/2560 ตามลำดับ
ความคืบหน้าและโครงการลงทุนต่าง ๆ
1) โครงการ Map Ta Phut Retrofit
- เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตามเป้าหมายในการเข้าสู่อุตสาหกรรมต่างๆ
- ก่อสร้างโรงงานแนฟทาแครกเกอร์กำลังการผลิตเอทิลีนที่ 500,000 ตันต่อปี และโพรพิลีน 250,000 ตันต่อปี
- ผลิตเชิงพาณิชย์ ปี 2563
- ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการพิจารณาประกาศการลงทุนซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในสิ้นปีนี้
2) โครงการ PO/Polyol เป็นการลงทุนโพลียูรีเทนครบวงจร
- โครงการ PO และโครงการ Polyols & PU System เป็นโครงการในธุรกิจสาย Polyurethane ซึ่งอยู่ในกลุ่มเคมีภัณฑ์สมรรถนะสูง (Performance Materials & Chemicals) โครงการ PO และโครงการ Polyols & PU System ซึ่งเป็นการต่อสายธุรกิจผลิตภัณฑ์ Polyurethane อย่างครบวงจร
- เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตลาดกำลังมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันได้มีการจัดตั้งบริษัทย่อยและบริษัทร่วมทุน ระหว่าง PTTGC และพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น เพื่อดำเนินธุรกิจดังกล่าว
- บริษัท GC Oxirane PTTGC ถือหุ้น 100 % กำลังการผลิต PO 200,000 ตันต่อปี
- บริษัท GC Polyols PTTGC ถือหุ้น 82.1 % Sanyo Chemicals Industries (SCI) 14.9 % และ Toyota Tsusho Corporation (TTC) 3 % กำลังการผลิต Polyols& PU System 130,000 ตันต่อปี
- มูลค่าโครงการประมาณ 888 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- เริ่มก่อสร้าง ปี 2560 ผลิตเชิงพาณิชย์ ปี 2563
3) โครงการ mLLDPE
- กำลังการผลิต 400,000 ตันต่อปี ผลิตเชิงพาณิชย์ ไตรมาส 1/2561
- มูลค่าโครงการ 288 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
4) โครงการ US Petrochemical Complex
- ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding) ระหว่าง PTTGC America LLC. และ JobsOhio หน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนในรัฐโอไฮโอ เพื่อร่วมกันศึกษา วางแผน และจัดทำโครงการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่โครงการและบริเวณใกล้เคียงในรัฐโอไฮโอ ประเทศสหรัฐอเมริกา
- โครงการความร่วมมือนี้จะเริ่มดำเนินการเมื่อ PTTGC เริ่มดำเนินโครงการ Petrochemical Complex
- ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาการลงทุน
5) ความก้าวหน้าตลาด CLMV
- PTTGC ร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกประเทศไทย กับผู้ค้าของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ในงาน PROPAK MYANMAR 2017 ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายน 2560 ณ เมืองย่างกุ้ง เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการพลาสติกของไทย ได้มีโอกาสเจรจาธุรกิจทำ Business Matching กับกลุ่มผู้ประกอบการพลาสติกในเมียนมาร์
- งาน PROPAK MYANMAR 2017 มีกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลาสติกของเมียนมาร์ให้ความสนใจเข้าร่วมเจรจาการค้า (Business Matching) ทั้งสิ้น 149 บริษัท และมีบริษัทที่คาดว่าจะมีโอกาสทางธุรกิจร่วมกัน 61 บริษัท แสดงให้เห็นถึงทิศทางที่ดีของตลาดสินค้าพลาสติกในเมียนมาร์ที่ยังมีแนวโน้มเติบโตสูงและมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
- PTTGC ได้ลงนาม MOU และ SHA กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลาสติกจำนวนหลายบริษัท เพื่อการลงทุนในเมียนมาร์ ประกอบด้วย
o MOU - บริษัท เอ.เค.แพคและจักรกล เพื่อพัฒนาตลาดบรรจุภัณฑ์พลาสติกในเมียนมาร์
o SHA - บริษัท TPBI International Company Limited และ Myanmar Star Group เพื่อจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในเมียนมาร์ เพื่อลงทุนในการทำธุรกิจโรงงานขึ้นรูปพลาสติกเพื่อการผลิตและการขายในเมียนมาร์
- แผนงานในปี 2561
o จัดตั้ง Service Company เพื่อให้บริการธุรกิจโพลิเมอร์ในเมืองย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์
o จัดตั้ง Sales Office เพื่อให้บริการด้านการจัดจำหน่าย การขาย การขนส่งของธุรกิจโพลิเมอร์ในเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
6) การจัดตั้ง CSC – Customer Solution Center
PTTGC เดินหน้ากลยุทธ์ร่วมกับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติก โดยการจัดตั้ง CSC – Customer Solution Center เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยการส่งเสริม สนับสนุนและเป็นสื่อกลางในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจให้กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมพลาสติกเติบโต สามารถแข่งขันได้ ทั้งกลุ่มลูกค้าเดิมและกลุ่ม Start up โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ PTTGC ได้มีการลงนาม MOU สำคัญ ดังนี้
- MOU – PTTGC ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อต่อยอดการพัฒนาอุปกรณ์พลาสติกทางการแพทย์ ทำให้เกิดความช่วยเหลือ และสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องมือ และ อุปกรณ์การแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
- MOU – PTTGC ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ เพื่อสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ เพื่อใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยนกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ทั้งพลาสติกที่ทำมาจาก ปิโตรเคมี (Petroleum-based) และเคมีภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม (Bio-based)
บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ โดยมีธุรกิจหลัก 8 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและสาธารณูปการ กลุ่มผลิตภัณฑ์อะโรเมติกส์ กลุ่มผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์โพลิเมอร์ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เอทิลีนออกไซด์ กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มธุรกิจ Performance Materials & Chemicals และกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ฟีนอล นับเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นครบวงจรที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และเป็นบริษัทชั้นนำในระดับภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกทั้งขนาดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์