สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงพระนิพนธ์เล่าถึงวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไว้ในหนังสือ "เจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์"
ขณะนั้นสมาชิกราชสกุลมหิดลทุกพระองค์ประทับอยู่ในรัฐแมสซาชูเสตต์ สหรัฐอเมริกา โดยสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กำลังทรงศึกษาต่อในวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ขณะที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงศึกษาบางวิชาที่วิทยาลัยซิมมอนส์อยู่ระยะหนึ่ง และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเข้าศึกษาในระดับอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงเล่าถึงการประสูติของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช (พระยศในขณะนั้นของในหลวงรัชกาลที่ 9) ไว้ว่า
"...แต่ในไม่ช้า ก็มีเหตุสำคัญในครอบครัวของเรา คือการเกิดของลูกคนที่สาม ข้าพเจ้าเคยเขียน ดังที่หลายคนได้เขียนไว้ ว่าพระโอรสองค์ที่สองของทูลหม่อมฯ ("ทูลหม่อมฯ" หมายถึงสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) ประสูติวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 เวลา 08.45 น. ที่โรงพยาบาลเมาท์ออร์เบอร์น (Mount Auburn) ในเคมบริดจ์..."
ทรงเล่าต่อว่าสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีความจำที่แม่นมาก ทรงจำได้ว่าโรงพยาบาลเมาท์ออร์เบอร์น ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชสมภพนั้น ขณะนั้นไม่ได้ใช้ชื่อนี้ แต่ใช้ชื่อว่า "โรงพยาบาลเคมบริดจ์" แต่เปลี่ยนชื่อมาเป็นเมาท์ออร์เบอร์นในปี 2490
อีกเกร็ดหนึ่ง ทรงเล่าถึงการได้มาซึ่งพระนามแรกในพระสูติบัตร ที่ขานพระนามของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า "ภูมิพลอดุลเดช สงขลา" ไว้ดังนี้
พระนาม "ภูมิพลอดุลเดช" ได้มาจากการที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ทรงส่งโทรเลขถวายสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ซึ่งเป็นสมเด็จย่าของในหลวงรัชกาลที่ 9 โทรเลขนั้นมีใจความว่า
"ลูกชายเกิดเช้าวันนี้ สบายดีทั้งสอง ขอพระราชทานนามทางโทรเลขด้วย"
(สมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ หรือสมเด็จพระบรมราชชนก
กับพระโอรส คือพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช หรือต่อมาคือในหลวง ร.9)
สมเด็จพระพันวัสสาฯ จึงเสด็จไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขอพระราชทานนามให้พระโอรสพระองค์ใหม่ของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ แล้วจึงมีลายพระหัตถ์ถึงหม่อมเจ้าดำรัศดำรงค์ ว่ารัชกาลที่ 7 พระราชทานพระนามว่า "ภูมิพลอดุลเดช" และเขียนเป็นภาษาอังกฤษตามแบบรัชกาลที่ 6 ว่า "Bhumibala Aduladeja"
(ลายพระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 7 พระราชทานพระนาม
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช ซึ่งต่อมาคือในหลวง ร.9)
หม่อมเจ้าดำรัศดำรงค์ จึงทรงส่งโทรเลขกลับมายังสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ความว่า
"Your son's name is Bhumibala Aduladeja"
ซึ่งแปลความได้ว่า "พระโอรสของใต้ฝ่าพระบาท มีพระนามว่าภูมิพลอดุลเดช" แต่โทรเลขนั้นส่งมาเฉพาะแค่ภาษาอังกฤษ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จึงทรงพระนิพนธ์เล่าต่อไปว่า
"แม่ (สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) ได้รับโทรเลขฉบับนี้แล้ว ไม่ทราบว่าลูกชื่ออะไรแน่ในภาษาไทย คิดว่าชื่อ 'ภูมิบาล' จึงได้สะกดภาษาอังกฤษในสูติบัตรว่า 'Bhumibal'"
ส่วนนามสกุลในสูติบัตรว่า "สงขลา" นั้น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระนิพนธ์เล่าที่มาไว้ว่า
"ตามธรรมเนียมราชตระกูล ตั้งแต่รัชกาลที่ 6 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และในสมเด็จพระบวรราชเจ้า จะทรงเป็นต้นสกุลใหม่ที่พระราชทาน เมื่อพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สวรรคตไป หรือผู้สืบสันตติวงศ์ ขึ้นทรงราชย์ จะทรงเป็นรัชกาลใหม่ พระราชโอรสในรัชกาลใหม่นี้ก็จะทรงเป็นต้นสกุลใหม่..."
แต่ในวันที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จพระราชสมภพนั้น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรฯ ผู้เป็นพระบรมราชชนก ยังมิได้รับพระราชทานนามสกุล ทำให้สมเด็จย่าทรงใช้ชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า "Mrs.Songkla" ตามพระอิสริยยศของพระบรมราชชนกในขณะนั้น (กรมขุนสงขลานครินทร์) พระโอรสและพระธิดาจึงใช้นามสกุลว่า "สงขลา" ทุกพระองค์ ต่อมาภายหลัง รัชกาลที่ 7 จึงได้พระราชทานราชสกุลว่า "มหิดล"
(จากซ้ายไปขวา : พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8,
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9)
ซึ่งแม้ว่าในหลวงรัชกาลที่ 8-9 และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ จะไม่ต้องใช้นามสกุลในประเทศไทยจากการดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระวรวงศ์เธอ" แต่การย้ายไปประทับ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ทรงมีพระราชประสงค์จะอาศัยอยู่ที่นั่นแบบสามัญชนและต้องมีนามสกุล ทำให้นามราชสกุล "มหิดล" มีประโยชน์อย่างมากทีเดียว
และจะสังเกตว่า คำว่า "อดุลเดช" ในพระนามในหลวงรัชกาลที่ 9 และพระนามพระบรมราชชนก สะกดไม่เหมือน "อดุลยเดช" ในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระนิพนธ์เล่าปิดท้ายไว้ว่า
"...อันที่จริง พระนามของทูลหม่อมฯ เริ่มเขียน 'อดุลเดช' แต่ต่อมาได้มีการเขียนทั้ง 2 แบบกลับไปกลับมา และในที่สุดสมัยนี้นิยมใช้แบบที่ 2"
-----------------------------------------------
(ภาพและข้อมูลจากหนังสือ : เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์ พระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์)