ช่วง "สถิตฟ้า สถิตใจ ไทยนิรันดร์" วันนี้ ชวนทุกท่านย้อนไปในปีพุทธศักราช 2536 หรือกว่า 24 ปีที่แล้ว ที่มีถนนสายเล็กๆ จากพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 สายหนึ่งเกิดขึ้น แต่อำนวยประโยชน์มหาศาลแก่ชาวกรุงเทพมหานคร
ในปีนั้น การจราจรบนสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (ขาเข้า) เป็นแบบที่ให้รถจากฝั่งธนบุรีลงจากสะพานแล้วมาหยุดรอสัญญาณไฟจราจรที่เชิงสะพาน ก่อนเข้าสู่ถนนราชดำเนินกลางหรือมุ่งหน้าไปยังสนามหลวง
ปัญหาคือผู้ใช้รถต้องรอสัญญาณไฟแดงในบริเวณนั้นถึง 4 จังหวะ เมื่อสัญญาณไฟเขียวรถแต่ละคันก็ต้องเบียดแย่งทางกันไปมา รถผ่านไฟเขียวไปได้ไม่กี่คันก็ต้องหยุดอีก และเมื่อรถติดไฟแดงที่เชิงสะพานมากๆ ก็ส่งผลให้มีปริมาณรถติดสะสมบนสะพานถึงขั้นข้ามฝั่งแม่น้ำไปจนถึงแยกอรุณอมรินทร์
ปัญหานี้อยู่ในสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมาโดยตลอด ทรงมีพระราชดำริให้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย
1. ปรับปรุงพื้นที่เชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร หน้ากรมประชาสัมพันธ์ (เดิม) บางส่วนให้ใช้เป็นผิวจราจรได้
2. ยกเลิกสัญญาณไฟจราจร และเพิ่มช่องจราจรสำหรับลงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพิ่มเป็น 4 ช่องจราจร
3. สร้างช่องทางซ้ายสุดของ 4 ช่องจราจรนี้ เป็นทางวนกลับรถเข้าสู่ถนนเจ้าฟ้า ลอดใต้เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าเพื่อเข้าสู่สนามหลวงได้ทันทีโดยไม่ต้องรอไฟเขียวที่สี่แยกอีกต่อไป
ซึ่งช่องทางซ้ายสุดที่สร้างทางวนกลับนี้ ถ้ามองจากมุมสูงจะเห็นเป็นรูป "หยดน้ำ"
โครงการก่อสร้างนี้เริ่มในวันที่ 29 ธันวาคม 2536 และแล้วเสร็จเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2537 ซึ่งภายหลังดำเนินการเรียบร้อย สภาพการจราจรบริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าต่อเนื่องถนนราชดำเนินกลางคล่องตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ที่สำคัญ นอกจากพระองค์จะพระราชทานพระราชดำริในเรื่องนี้ พระองค์ยังพระราชทานเงินส่วนพระองค์อีก 5 ล้านบาทเพื่อเป็นทุนของโครงการด้วย
ถนนสายดังกล่าวที่ยังคงใช้สัญจรอยู่จนถึงปัจจุบัน จึงเปรียบเสมือนอีกหนึ่งของขวัญด้านการจราจรจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระราชทานไว้ เพื่อทรงหวังที่จะบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่พสกนิกรของพระองค์นั่นเอง
ภาพจาก : Google Maps / มติชน
+ อ่านเพิ่มเติม