สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. ร่วมกับมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดเผยสถานการณ์ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2559 จากรายงานของมูลนิธิชายหญิงก้าวไกล ซึ่งได้รวบรวมสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัวจากหนังสือพิมพ์ 13 ฉบับตลอด 1 ปี
จากการรวบรวมดังกล่าวพบว่า มีข่าวรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 466 ข่าว โดยจำแนกจากประเภทของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงพบว่าเป็นความรุนแรงที่สามีกระทำต่อภรรยามากที่สุดถึง 71.8 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือคู่รักแบบแฟนโดยฝ่ายชายเป็นผู้กระทำ, พ่อกระทำต่อลูก และพี่น้องกระทำต่อกันตามลำดับ
และหากแยกกรณีที่สามีลงมือเป็นฝ่ายฆ่าภรรยา พบว่า 43.6 เปอร์เซ็นต์ ใช้อาวุธปืนยิง, 32.7 เปอร์เซ็นต์ ใช้มีดหรือของมีคม ขณะที่ 23 เปอร์เซ็นต์ เลือกใช้วิธีการฆ่าแบบอื่น เช่น ตบตีจนเสียชีวิต เผา ขับรถชน บีบคอ เป็นต้น โดยมูลเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการฆ่า 78.6 เปอร์เซ็นต์มาจากการหึงหวง ละแวงฝ่ายหญิงไม่ยอมคืนดี โดยพื้นที่ที่ก่อเหตุพบว่าในกรุงเทพมหานครมากที่สุด
และพบว่าในจำนวนข่าวความรุนแรงทุกประเภทกว่า 466 ข่าว มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยกระตุ้น 86 ข่าว หรือ 18.5 เปอร์เซนต์
ระหว่างการแถลงข่าว มีการนำนางสาวเอ (นามสมมติ) ผู้ที่ถูกอดีตสามีทำร้ายและใช้ความรุนแรงมากว่า 7 ปี มาพูดคุยถึงบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจที่เกิดจากกระทำของสามี ซึ่งเป็นผู้เสพยาเสพติดและสุรา โดยถูกทำร้ายใช้อาวุธมีดฟันที่ศีรษะเย็บถึง 21 เข็ม รวมถึงกระโหลกศีรษะบิ่น และมีบาดแผลจากการถูกแทงด้วยอาวุธมีดบริเวณหน้าท้อง รวมถึงยังมีร่องรอยจากการใช้มือซ้ายปะทะกับมีดจนทำให้เส้นเอ็นขาด ต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลเป็นเวลานานกว่า 20 วัน แม้สามีของเธอจะถูกศาลตัดสินจำคุกเป็นเวลา 4 ปี แต่ก็ยังคงหวาดระแวงว่าหากได้รับการปล่อยตัว ตนเองก็จะต้องพบกับปัญหาความรุนแรงจากอดีตสามีอีก
ขณะที่ ดร.นายแพทย์ บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. ระบุว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยในหลายด้าน ทั้งการดิ้นรนหาเงินเลี้ยงครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลาให้แก่กัน การอาศัยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการผ่อนคลายและแสดงถึงความมีอำนาจ และการไม่ให้เกียรติกันเนื่องจากคติที่ว่าผู้ชายเป็นผู้นำครอบครัวและจะต้องเป็นฝ่ายหาเงิน
ในขณะที่นายจะเด็ด เชาน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลระบุว่า ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวมีความเชื่อมโยงกับการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแนวคิดที่ว่าฝ่ายหญิงจะต้องเป็นสมบัติของฝ่ายชาย ทำให้มีการหึงหวงจนมีการทำร้ายร่างกาย ซึ่งการแก้ไขควรมีการปรับทัศนคติ และให้ความเคารพในสิทธิความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมทางเพศ โดยสังคมจะต้องไม่มองว่าความรุนแรงเป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่ควรช่วยกันหาทางช่วยเหลือ
+ อ่านเพิ่มเติม