สนช.มีมติเอกฉันท์ 176-0 ผ่านกม.อาญานักการเมือง ไม่นับอายุความผู้หลบหนีคดี-พิพากษาลับหลังได้
logo ข่าวอัพเดท

สนช.มีมติเอกฉันท์ 176-0 ผ่านกม.อาญานักการเมือง ไม่นับอายุความผู้หลบหนีคดี-พิพากษาลับหลังได้

ข่าวอัพเดท : ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ด สภานิติบัญยัติแห่งชาติ,สนช.,กฎหมาย,นักการเมือง

7,515 ครั้ง
|
13 ก.ค. 2560
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเอกฉันท์ ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้วยคะแนน 176 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ มีสาระสำคัญดังนี้
 
1. จะไม่นับอายุความกรณีจำเลยหลบหนีคดีที่อยู่ในชั้นการพิจารณาของศาล จนกว่าจะได้รับตัวมาลงโทษ ป้องกันการหลบหนีฟอกตัวรอหมดอายุความแล้วกลับเข้ามาใช้ชีวิตตามปกติ กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สามารถประทับรับฟ้องและพิพากษาคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีได้
 
2. กรณีจำเลยหลบหนีคดีที่ศาลออกหมายจับแล้วหากไม่สามารถจับจำเลยได้ภาย 3 เดือนให้ศาลสามารถพิพากษาคดีลับหลังจำเลยได้ โดยจำเลยยังสามารถขอให้ศาลรื้อฟื้นคดีได้ภายใน 1 ปี เพื่อมาต่อสู้หากมีหลักฐานใหม่ 
 
โดยสมาชิก สนช. ที่อภิปรายส่วนใหญ่เห็นด้วย แต่ตั้งข้อสังเกตในบางประเด็น เช่นนายธานี อ่อนละเอียด ที่มองว่าหลักการให้พิพากษาลับหลังจำเลยจะขัดต่อหลักกฎหมายเดิมที่ให้จำเลยต้องแสดงตัวต่อศาล ด้านนายกิตติ วะสีนนท์ มองว่าการให้ศาลพิพากษาลับหลังจำเลยจะเป็นการขัดต่อหลักสากลตัดสิทธิต่อสู้คดีของจำเลยหรือไม่ 
 
ขณะที่นายอธิคม อินทุภูติ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับการพิพากษาคดีลับหลัง จะไม่เป็นธรรมกับจำเลยแม้จะตั้งทนายมาต่อสู้แทนก็ไม่เหมือนกับกับจำเลยมาด้วยตัวเอง อีกทั้งเมื่อศาลพิพากษาลับหลังและก็ไม่มีตัวจำเลยมาลงถือเป็นการเปล่าประโยชน์
 
นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะกรรมาธิการ ชี้แจงหลักการที่ให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองสามารถพิพากษาและประทับรับฟ้องคดีลับหลังจำเลยที่หลบหนีคดีว่า เรื่องนี้ต่างจากคดีอาญาทั่วไปที่บังคับใช้กับประชาชนแต่กรณีนี้เป็นการบังคับใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตล้วนมีอำนาจสามารถหลบหนีไปต่างประเทศได้ ซึ่งมาตรการนี้จะสามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถปราบปรามการทุจริตได้
 
นายอุดม ยืนยันว่าจำเลยที่ถูกพิพากษาลับหลังยังมีสิทธิในการต่อสู้อยู่ เพราะหลักการเดิมที่ให้มีการพิพากษาคดีหน้าจำเลยนั้นก็เพื่อให้จำเลยได้ต่อสู้แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นพิพากษาลับหลักจำเลยได้ จำเลยที่หลบหนีก็สามารถตั้งทนายมาต่อสู้ได้ นอกจากนี้ยังมีสิทธิขอรื้อฟื้นคดีใหม่ได้ภายในหนึ่งปีหลังศาลพิพากษาแล้ว หากมีพยานหลักฐานใหม่ ไม่ได้ไปตัดสิทธิของจำเลย 
 
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลังต่อคดีที่ดำเนินการอยู่กฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง