เจาะเส้นคดี “บิ๊กโจ๊ก” แมวเก้าชีวิต ถูกสั่งให้ออกจากราชการ มีสิทธิ์ลุ้น ผบ.ตร หากให้ออกมิชอบ ด้าน “บิ๊กต่าย” อาจซวยจริงหรือไม่ ?
วันที่ 24 มิ.ย. 67 พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ กรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ผู้ทรงคุณวุฒิ และอดีตรอง ผบ.ตร. ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด 35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ว่า ประเด็นการเห็นชอบด้วยกฎหมาย ท่านรองฯ สุรเชษฐ์ ไปยื่นเรื่องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ท่านยืนยันว่าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะว่า คณะกรรมการยังไม่ได้ลงความเห็นว่าท่านควรจะออกหรือไม่
สรุปง่าย ๆ คือ การที่ยื่นเรื่องโดยขบวนการทางกฎหมายรองรับ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมเป็นคณะกรรมการที่เกิดขึ้นตามกฎหมายใหม่ มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ในกรณีที่ท่านรองฯ สุรเชษฐ์ ถูกสั่งให้ออกจากข้าราชการ ท่านให้เหตุผล ว่า ไม่ถูกต้องตามกฎหมายจึงทำการยื่นอุทธรณ์ โดยตามกฎหมายให้สิทธิ์ในการยื่นเรื่องและคุ้มครอง
ท่านรองฯ สุรเชษฐ์ ได้รับคำให้ออกจากราชการชั่วคราว ได้ทำการยื่นเรื่องถึงนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้ทำการสอบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้รับการยืนยันว่าเป็นคำสั่งตั้งกรรมการสอบวินัยถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 131 ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็มีคำสั่งให้ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือตอบท่านรองฯ สุรเชษฐ์ ว่า ยืนยันคำสั่ง ชอบด้วยกฎหมาย ให้ไปใช้สิทธิ์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม
นอกจากนั้น ยังมีหนังสือฉบับที่ 3 ยื่นถึงนายกรัฐมนตรี ในอีกหนึ่งบทบาท เป็นประธาน ก.ตร. ยื่นเรื่องไปสองครั้ง ครั้งแรกไม่เป็นผล ครั้งที่สองได้แนบเอกสาร เป็นบันทึกของกฤษฎีกาที่รับรองว่า คำสั่งไม่ชอบ ส่งให้กับ ก.ตร. โดย ก.ตร. จะพิจารณาอย่างไรต้องส่งต่อไปที่ อนุวินัย ที่มี พล.ต.อ.วินัย ทองสอง เป็นประธาน โดยได้รับการพิจารณาแล้ว ว่า คำสั่งเห็นชอบ โดยมีการนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ก.ตร. ซึ่งกำหนดวาระการประชุม ในวันที่ 26 มิถุนายนนี้ ถ้าให้อนุมาน ณ เวลานี้ ไม่ออกหัวก็ก้อย ถ้าหัวก็เป็นคุณกับท่านรองสุรเชษฐ์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติยืนยันว่าเป็นไปตามกฎหมาย มาตรา 131 ในส่วนมาตรา 120 วรรค 4 คือ ไม่ต้องถึงขั้นมีความผิด แต่สอบสวนแล้วควรพักหรือออกจากราชการไว้ก่อนหรือไม่ จริง ๆ แล้วคณะกรรมการยังไม่ได้เริ่มกระบวนการสอบ แต่ถ้าเห็นว่าผู้กล่าวหามีพฤติการณ์สร้างความเสียหายให้กับหน่วยงาน ถ้าจำเป็นก็สามารถสั่งปลดได้ ประเด็น คือ จะมีความเห็นหรือไม่
สุดท้ายอยากจะบอกว่า ตนไม่ใช่กูรูแค่พยายามแจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ตนไม่มีประเด็นพูดคุยที่ทำให้ใครเสียหาย และไม่ถือโทษโกรธใคร ยืนยันว่าที่ท่านรองฯ สุรเชษฐ์ กล่าวอ้างนั้น ไม่ใช่ตน
ด้าน รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นว่า เราปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้วว่าตำรวจกับการเมืองมีความเกี่ยวโยงกัน เพราะเป็นกันมาทุกยุคทุกสมัย ถ้าในทางสาธารณะเป็นครั้งแรกตั้งแต่ อาจารย์ วิษณุ มารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ส่วนในทางไม่สาธารณะเรื่องกฎหมายหรือเรื่องอื่น ๆ เราไม่ทราบ ตนมองว่า ในแง่ที่ อาจารย์ วิษณุ ออกมาแถลง ก็อยู่บนฐานของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ที่ท่านนายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น คล้าย ๆ กับเป็นการเล่าเรื่องให้ฟัง ว่า ในขั้นของการสอบข้อเท็จจริง มีอะไรบ้าง
คำว่าแก้ไข ไม่ได้บอกว่ายกเลิกคำสั่ง อาจจะหมายถึงการปรับแนวทาง ปรับวิธีการดำเนินงานเรื่องนโยบายของหน่วยงานก็ได้ โดยในจุดนี้ก็สิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องไปพิจารณาดู คือ หน่วยงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนไหม ความจริงการเมืองไม่ควรมีส่วนเกี่ยวข้องกับตำรวจแต่ปฏิเสธไม่ได้ ที่จะมีเข้ามาแทรกแซง ถ้าไม่ให้เกี่ยวข้องเลยเป็นไปไม่ได้
คำวินิจฉัยกฤษฎีกา มีสองส่วน หนึ่ง คือ คำวินิจฉัยในการตีความกฎหมาย ส่วนที่สอง คือ ข้อสังเกต ในมุมของกฎหมายมีโอกาสที่จะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ สิ่งที่หน่วยงานต้องปฏิบัติตาม คือ คำวินิจฉัย จะเห็นได้ว่ามาตรา 120 กับ 131 เป็นคนละกรณี
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 17.30-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม