วันนี้เวลา 10.00 น. นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมรองอธิบดี คณะผู้บริหารกรมฯ และนายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เปิดแถลงข้อเท็จจริงกรณีนิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ และเจ้าหน้าที่บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) รวม 5 คน ตกบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโรงงานของบริษัทซีพีเอฟ ย่านถนนบางนา-ตราดซอย 20 จนเสียชีวิต
โดยระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดย น.ส.ปัณฐิกา ตาสุวรรณ นิสิตชั้นปีที่ 5 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้เดินเข้าไปสำรวจอาคารระบบบำบัดน้ำเสีย ซึ่งมีทางเดินเล็กๆ และมีบันไดสำหรับปีนลงไปยังบ่อ พร้อมกับเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของโรงงาน คือ น.ส.ลักษ์ชนก แสนทวีสุข เวลาผ่านไปประมาณ 10 นาทีก็มีเสียงกรีดร้อง และ น.ส.ลักษ์ชนก ได้เข้าไปทำการช่วยเหลือ น.ส.ปัณฐิกา ส่วนเจ้าหน้าที่ที่รอด้านนอกคนหนึ่งได้ตามบุคคลอื่นมาช่วยเหลือ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยโดยตรง ทำให้ขาดการป้องกันความปลอดภัยขณะลงไปช่วยเหลือจนเกิดเหตุมีผู้เสียชีวิตรวม 5 รายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รายสุดท้ายที่เข้าไปช่วยเหลือและรอดชีวิตมาได้เป็นเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง ที่ตัดสินใจขึ้นจากบ่อเนื่องจากทราบว่าอากาศไม่เพียงพอต่อการหายใจ
เมื่อเกิดเหตุดังกล่าวขึ้น ทางกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบที่เกิดเหตุสองครั้ง คือบ่ายวันศุกร์ และในวันเสาร์ เพื่อถ่ายรูป ตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ และสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง
อนึ่ง บ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวเป็นบ่อขนาด 3x4 เมตร มีความลึก 2.5 เมตร ระดับน้ำในบ่อสูงราว 1-1.5 เมตร เป็นพื้นที่อับอากาศ และประเด็นสำคัญคือฝาบ่อ ซึ่งเป็นฝาเหล็กแบบยก มีหูหิ้วสองข้าง มีขนาดกว้างและยาวราว 1-1.5 เมตร มีน้ำหนักราว 30 กิโลกรัม โดยปกติฝาบ่อจะต้องปิดสนิทตลอดเวลา แต่จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่พบว่าเมื่อเกิดเหตุฝาบ่อกลับเปิดอยู่และตกลงไปในบ่อพร้อมกับ น.ส.ปัณฐิกา ซึ่งต้องมีการหาสาเหตุต่อไปว่าฝาบ่อเปิดเพราะเหตุใด ทั้งนี้ทางกรมฯ ขอให้เป็นเรื่องของตำรวจและกองพิสูจน์หลักฐานในการหาสาเหตุ
อธิบดีกรมโรงงานฯ ระบุต่อไปว่าพื้นที่ทางเดินไปยังบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่สามารถใช้เดินได้ แต่ไม่ควรเดินเข้าไป ซึ่งก่อนเกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่ให้การว่าช่วงเวลา 7.00-8.00 น. พบว่าฝาบ่อยังคงปิดสนิทอยู่ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมที่เข้าไปพร้อมนิสิตยังเพิ่งเข้าปฏิบัติงานได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น จึงอาจยังไม่พร้อมในการเผชิญเหตุ อย่างไรก็ตามการตรวจสอบพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นการคาดคะเน เนื่องจากผู้รอดชีวิตไม่ค่อยได้เห็นเหตุการณ์อย่างชัดเจน ส่วนนิสิตอีกหนึ่งรายที่อยู่ในเหตุการณ์เข้าให้ปากคำกับตำรวจแล้ว แต่คงไม่สามารถให้คำตอบได้ชัดเจนนัก เนื่องจากไม่ได้เดินเข้าไปในบริเวณดังกล่าวขณะเกิดเหตุเช่นกัน
ซึ่งทางกรมฯ ได้มีคำสั่งตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 สั่งระงับการใช้บ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวเป็นเวลา 30 วัน ซึ่งทางบริษัทฯจะต้องปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และเสนอมาให้ทางกรมฯ พิจารณาอีกครั้ง และจากนี้จะมีการทบทวนมาตรการความปลอดภัย ตลอดจนการอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้านการดำเนินคดีอาญาจะเป็นหน้าที่ของตำรวจต่อไป
ด้านนายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยระบุว่า กฎสำคัญด้านความปลอดภัยสำหรับพื้นที่อับอากาศ ข้อแรกคือการห้ามผู้ไม่มีหน้าที่เข้าไปในพื้นที่อย่างเด็ดขาด ส่วนผู้มีหน้าที่เข้าไปก็ต้องมีความรู้ นอกจากนี้ยังต้องมีป้าย แสดงสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเตือนให้ชัดเจน และต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี่้บริเวณรอบบ่อควรเป็นที่โล่งเพื่อสะดวกในการช่วยเหลือ ด้านระดับของก๊าซออกซิเจนภายในบ่อที่ตรวจวัดโดยกรมควบคุมมลพิษหลังเกิดเหตุราว 5 ชั่วโมงอยู่ที่ร้อยละ 20.1 ซึ่งยังเป็นไปตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตามเนื่องจากการวัดค่าดังกล่าวเกิดหลังเกิดเหตุการณ์ไปแล้ว จึงอาจมีความคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งหลังจากนี้ทางสมาคมฯ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแลดล้อมกว่าร้อยคน จะขอเสนอตัวช่วยเหลือกรมฯ ในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของบ่อบำบัดในโรงงานต่างๆ ด้วย โดยจะต้องไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะเช่นนี้อีก
"เนื่องจากในขณะนี้เหตุการณ์ทั้งหมดยังไม่ชัดเจน จึงขอให้อย่าเพิ่งด่วนสรุปเหตุการณ์ และต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ตนเพียงอยากย้ำว่าพื้นที่อับอากาศโดยปกติต้องเป็นพื้นที่หวงห้าม ห้ามบุคคลที่ไม่มีหน้าที่เข้าไปเด็ดขาด ไม่ใช่ใครเข้าไปก็ได้ จึงขอฝากสื่อมวลชนสะท้อนในเรื่องนี้ด้วย" นายประเสริฐระบุ