คมนาคมเตรียมมาตรการรับมือม็อบ กปปส.ชัตดาวน์ กทม. 13 ม.ค.นี้
logo ข่าวอัพเดท

คมนาคมเตรียมมาตรการรับมือม็อบ กปปส.ชัตดาวน์ กทม. 13 ม.ค.นี้

2,692 ครั้ง
|
06 ม.ค. 2557
คมนาคม ประชุมกำหนดมาตรการรับมือ กปปส. ชัตดาวน์กทม. 13 ม.ค. นี้ เตรียมจุดจอดรถและจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอำนวยความสะดวก พร้อมมอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงรับผิดชอบ 5 โซนที่ได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหว เบื้องต้นประเมินผู้ใช้บริการระบบขนส่งที่ได้รับผล กระทบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
 
นายสมชัย ศิริวัฒนโชค ปลัดกระทรวงคมนาคม เรียกประชุมทุกหน่วยงานด้านการขนส่งในสังกัดกำหนดมาตรการรับมือการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ประกาศชัตดาวน์ กทม. 20 จุด ในวันที่ 13 ม.ค. ที่จะถึงนี้ โดยเบื้องต้นได้มอบหมายให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงรับผิดชอบดูแลอำนวยความสะดวกการเดินทางของประชาชนใน 5 โซนหลัก แบบผู้ตรวจฯ 1 คน ต่อ 1 ​โซน ประกอบด้วย โซน กทม.ชั้นใน ที่กปปส.ประกาศเคลื่อนไหว 20 จุด 
 
โซนกทม.ฝั่งเหนือ (ดอนเมือง รังสิต)  
โซน กทม.ฝั่งตะวันออก (ถนนพระราม9 , แอร์พอร์ตลิ้งค์ , สนามบินสุวรรณภูมิ ,ถนนสายบางนา-ตราด) 
โซนกทม.ฝั่งใต้ (ถนนพระราม 2 , ถนนเพชรเกษม, สถานีขนส่งสายใต้) 
โซนกทม.ฝั่งตะวันตก (นนทบุรี , ปทุมธานี, แม่น้ำเจ้าพระยา) 
 
สำหรับมาตรการรองรับเบื้องต้นที่มีการกำหนดไว้ในรายละเอียด คือ การจัดหาจุดจอดรถ สำหรับเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชน เข้าพื้นที่กรุงเทพฯในโซนต่าง ๆ โดยวางไว้ 2 จุดหลัก ๆ คือ
 
โซนทางทิศเหนือ ที่ ลานจอดรถที่สนามบินดอนเมือง จุดจอดรถ บขส.รังสิต , สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน และ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 
 
โซนด้านทิศตะวันออก ได้จัดจุดจอดรถ และจุดเชื่อมต่อการขนส่งไว้ที่ ลานจอดรถสนามบินสุวรรณภูมิ , ลานจอดรถไบเทค บางนา , และกำลังประสานลานจอดรถที่ห้างสรรพสินค้า เมกะ บางนา 
 
โซนทิศใต้ จัดลานจอดรถไว้ที่ ลานจอดรถเซ็นทรัล พระราม 2 , ลานจอดรถ บิ๊กซี เคหะธนบุรี , ลานจอดบิ๊กซี ราชบูรณะ , และลานจอดรถ เดอะมอลล์บางแค 
 
และโซนตะวันตก จัดลานจอดรถไว้ที่ จุดจอดรถ ขสมก. 10 ไร่ , ที่จอดรถพาต้าปิ่นเกล้า ,และลานจอดสถานีรถไฟสายใต้ 
 
โดยจะจัดรถชัทเทิลบัส คอยรับส่งในจุดที่มีปัญหาการเดินทางโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และจะมีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดให้ประชาชนรับทราบอีกครั้ง หลังดำเนินการวางมาตรการแล้วเสร็จ โดยกำหนดให้ทุกหน่วยวางรายละเอียดการดำเนินการให้เสร็จทั้งหมดภายในเย็นวันนี้
 
นอกจากนี้ยังมีการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้เดินทางในช่วงวันดังกล่าว ว่าจะมีผู้โดยสารและผู้ใช้รถใช้ถนน ได้รับผลกระทบไม่น้อยกว่า 1 ล้านราย เป็นผู้ใช้รถ ขสมก. ประมาณ 8.5 แสนราย โดยมี ถนนสายต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ 151 เส้นทาง โดยเฉพาะในพื้นที่กทม.ชั้นใน ส่วนผลกระทบที่จะเกิดกับระบบขนส่งสาธารณะ คือ จุดจอดรถไฟ MRT 9 แห่ง , สถานี BTS 13 แห่ง , ท่าเรือ14 ท่า ,ทางด่วน 1 เส้นทาง , สถานีรถไฟ 5 สถานี ,และแอร์พอร์ตลิ้งค์ 2 สถานี กระทบเส้นทางรถเมล์ 137 เส้นทาง 
 
ผลกระทบต่อสถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย โรงเรียน และมหาวิทยาลัย 149 แห่ง , โรงพยาบาล 21 แห่ง , สถานที่ราชการ และสถานีตำรวจ 85 แห่ง , สถานที่สำคัญอื่น ๆ 51 แห่ง ,สถานทูต 12 แห่ง และศูนย์การค้า 88 แห่ง
 
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า หากทุกอย่างเป็นไปตามที่มีการประเมินไว้ มาตรการที่ทางกระทรวงออกมารองรับทั้งหมดจะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ประมาณ 50%