'โอ้พระคืนสรวง' เพลงถวายอาลัยจากหัวใจ และใช้ภาษาที่งดงาม
logo ข่าวอัพเดท

'โอ้พระคืนสรวง' เพลงถวายอาลัยจากหัวใจ และใช้ภาษาที่งดงาม

ข่าวอัพเดท : เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เผยแพร่มิ โอ้พระคืนสรวง,ในหลวง,อาลัย,เพลง

7,379 ครั้ง
|
28 ต.ค. 2559
 

 
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เผยแพร่มิวสิกวีดีโอเพลง “โอ้พระคืนสรวง” ซึ่งตนเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนอง เพื่อถวายอาลัยแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
 
รศ.ดร. เชษฐ์ กล่าวว่า เมื่อทราบข่าวการสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม ตนรู้สึกเศร้าโสกเสียใจอย่างมาก จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะแต่งบทเพลงเพื่อถวายอาลัย โดยตั้งใจแต่งด้วยการใช้ขนบแบบโบราณกล่าวคือ เป็นการสรรเสริญพระบารมีและพระบุญญาธิการของพระมหากษัตริย์ ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ตามความเชื่อในพุทธศาสนาที่จุติลงมาจากสวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อช่วยเหลือผู้คน เมื่อถึงเวลาก็ต้องทรงเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ จึงเป็นที่มาของชื่อเพลง “โอ้พระคืนสรวง” ใช้เวลาแต่งเพียง 1 วัน จากนั้น ได้ขอให้ทาง CU Concert Choir บรรเลงและประสานเสียง ซึ่งทำให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ โดยบันทึกแล้วเสร็จในวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ด้วยความร่วมมือของ ดร.ภาวศุทธิ์ พิริยะพงษ์รัตน์ ,  อ.อมานัต จันทรวิโรจน์ รวมถึงนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  
 
 
“เพลงนี้แต่งขึ้นเพื่อสะท้อนความโศกเศร้าของพสกนิกรในวันมหาวิปโยค โดยอาศัยบทเพลงที่มีภาษาอันงดงามรวมถึงระบบสัญลักษณ์ที่ซับซ้อนเป็นสื่อสำคัญในการทำให้เพลงมีพลังในการสะเทือนอารมณ์ การเลือกใช้การร้องแบบประสานเสียง (คอรัส) ก็เพื่อทำใหผู้ฟังเกิดถูกบีบคั้นอารมณ์แห่งความโศกเศร้าได้ดี โดยใช้การแต่งเนื้อหาตามขนบโบราณ คือการสรรเสริญพระบารมีและบุญญาธิการ ซึ่งในช่วงหลังไม่ค่อยมีผู้แต่งในแนวทางนี้ ส่วนใหญ่เป็นการแต่งเพลงที่บอกเล่าถึงพระกรณียกิจ หรือความอาลัย แต่ส่วนตัว เป็นอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ จึงอยากแต่งโดยนำคติความเชื่อโบราณและสัญลักษณ์ด้านประติมาณวิทยามาสอดแทรก ทั้งในเนื้อร้อง และมิวสิกวีดีโอ เช่น คำว่า ดุสิดา คือ สวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานเจดีย์จุฬามณี ใช้คำว่า จุฑาลัย แปลว่า ที่อยู่แห่งจุฬามณี สำหรับภาพที่ใช้ประกอบเพลง จะเห็นได้ว่า ในท่อนที่กล่าวถึงพระองค์ครั้งยังมีพระชนม์ชีพ จะใช้ภาพพระราชกรณียกิจ ส่วนท่อนที่กล่าวถึงการสวรรคตแล้ว จะใช้ภาพอีกชุดหนึ่ง ประกอบด้วยพระโกศ และพระบรมสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 8 และในหลวงรัชกาลที่ 9 เป็นต้น
 
แม้คติพระมหากษัตริย์ในฐานะพระโพธิสัตว์ จะเป็นปรัมปราคติก็ตาม แต่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชก็ทรงมีพระจริยาวัตรประหนึ่งพระโพธิสัตว์ที่เต็มไปด้วยพระกรุณาตลอดพระชนม์ชีพ จึงไม่ผิดเลยที่จะกล่าวว่าพระองค์ประดุจพระโพธิสัตว์ผู้เสด็จมาจากแดนสรวง ยังประชาชนของพระองค์ให้เกษม แล้วเสด็จกลับคืนสู่สวรรค์ชั้นดุสิตนั้น“
 
รศ.ดร. เชษฐ์กล่าวอีกว่า เพลงดังกล่าว ไม่สงวนลิขสิทธิ์ สามารถนำไปใช้เพื่อถวายอาลัยได้โดยไม่ต้องขออนุญาตแต่อย่างใด