สำนักข่าว mirror เผยแพร่ข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับรายชื่ออาหารและยาที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่กินร่วมกัน เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงต่ออาการข้างเคียงที่อาจจะเกิดขึ้น ที่เปิดเผยโดยแพทย์หญิง Aisling Hillick จากสหราชอาณาจักร มีรายละเอียดดังนี้
กล้วยหอม - ยารักษาโรคความดันโลหิต
แน่นอนว่ากล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์มาก แต่ไม่ใช่สำหรับผู้ใช้ยาลดความดันโลหิต ได้แก่ Captopril , ACE inhibitors , Angiotensin ควรจะหลีกเลี่ยงอาหารที่มีค่าโพแทสเซียมสูง จำพวกผักใบเขียวหรือส้มก็เช่นกัน เพราะหากทานยาผสมกับอาหารพวกนี้ จะเป็นสาเหตุทำให้โพแทสเซียมอยู่ในระดับสูง หากมีมากเกินไปจะทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
มะนาว - ยาแก้ไอ
ควรระมัดระวังการรับประทานส้มหรือมะนาว หากอยู่ระหว่างกำลังใช้ยาแก้ไอเด็กซ์โต หรือชื่อเต็มว่า dextromethorphan ผลไม้ตระกูลส้ม จะเข้าไปแทรกแซงไม่ให้ร่างกายได้รับยา และยังนำไปสู่ผลข้างเคียงอื่นๆ เช่น อาการง่วงนวนหรือเกิดภาพหลอน ซึ่งผลกระทบนี้จะเกิดขึ้นประมาณ 24 ชั่วโมง โปรดหลีกเลี่ยงหากต้องใช้ยาแก้ไอ
แอลกอฮอล์ - ยาแก้แพ้ ยาโรคเบาหวาน ยาแก้ปวด
มักจะมีคำเตือนเสมอว่าห้ามกินยาร่วมกับแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์ ยาพาราเซตามอล ยาโคดีอีน จะถูกเผาผลาญโดยตับ ซึ่งจะต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อทำลายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงจากการใช้ยา ซึ่งจะทำให้ง่วงซึม และเสี่ยงต่อตับที่จะเสียหายเพราะทำงานหนักมากเกินไป
กาแฟ - ยาขยายหลอดลมสำหรับโรคหอบหืด
ยาประเภทนี้ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวก โดยการผ่อนคลายกล้ามเนื้อในปอดและขยายทางเดินหายใจ แต่ผลข้างเคียงที่พบบ่อยคืออาการใจสั่น วิตกกังวล ตื่นเต้นง่าย ถ้าหากกินยาร่วมกับกาแฟก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้สูงขึ้น ปริมาณคาเฟอีนที่ร่างกายได้รับมากเกินไป จะไปจำกัดประสิทธิภาพในการรักษาอีกด้วย
ผักใบเขียว - ยาสลายลิ่มเลือด
ผักใบเขียวเหมาะสำหรับเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ แต่หากกำลังใช้ยาสลายลิ่มเลือด จำพวกยาวาร์ฟาริน (Warfarin) จะต้องกินอย่างระมัดระวัง แต่ไม่ต้องถึงกับเลิกกินแบบทันทีไปเลย เป็นเพราะในผักใบเขียวมีวิตามินเคสูงทำให้เลือดแข็งตัว แต่ยาชนิดนี้ถูกสร้างเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิตามินเค ซึ่งสวนทางกัน หากกินผักชนิดนี้มากเกินไป ก็จะไปก่อกวนการรักษาด้วยยานั่นเอง
ชะเอมเทศดำ - ยาโรคหัวใจ
ชะเอมจะทำให้โพแทสเซียมในร่างกายลดลง ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคหัวใจบางประเภท ระดับโพแทสเซียมที่ต่ำจะส่งผลข้างเคียงต่อยาดิจ๊อกซิน (digoxin) ที่ใช้ในการรักษาโรคหัวใจล้มเหลวและภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือผิดปกติ เช่นเดียวกับยาขับปัสสาวะในการรักษาโรคความดันโลหิตสูง, โรคต้อหิน , โรคหัวใจล้มเหลว และปัญหาเกี่ยวกับตับและไต ชะเอมจะทำให้ระดับโพแทสเซียมลดต่ำลง จะส่งผลให้เป็นตะคริวและจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
นม - ยาปฏิชีวนะ
คนไข้ควรกินยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin) และ ยาเตตราไซคลีน (Tetracycline) เป็นยาปฏิชีวนะ ร่วมกับน้ำเปล่าเต็มแก้ว 1 ชั่วโมง ก่อนมื้ออาหาร หรือ 2 ชั่วโมง หลังมื้ออาหาร โดยอาหารจะไปแทรกแซงการทำงานของตัวยาที่ร่างกายดูดซึมมา และเมนูประจำวันอย่าง นม ก็จะไปส่งผลกระทบบางอย่าง หากรับประทานร่วมกัน
ส้มโอ/เกรปฟรุต - ยาลดโคเลสเตอรอลในเลือด
หากต้องกินยาลดโคเลสเตอรอลในเลือด (Statins) ดังนั้น ส้มโอ , เกรปฟรุต , น้ำส้ม จึงไม่ใช่อาหารเช้าที่เหมาะสมอีกต่อไป เนื่องจากในส้มโอมีสารเคมีที่จะทำให้ร่างกายหยุดตอบสนองยากลุ่มนี้ ส่งผลข้างเคียงได้แก่ อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ฯลฯ
แซลมอนรมควัน/ซาลามี่/ปาเต - ยารักษาอาการซึมเศร้า
สอบถามแพทย์ให้แน่ใจว่าคุณไม่ได้ใช้ยารักษาโรคซึมเศร้า ( Antidepressant ) เพื่อยับยั้งเอนไซม์ monoamine oxidase inhibitors (MAOIs) ก่อนจะเพลิดเพลินกับเมนูรมควัน อาทิ แซลมอน ซาลามี่ หรือปาเต เนื่องจากอาหารประเภทนี้อุดมไปด้วย ไทรามีน (Tyramine) ซึ่งเป็นสารที่เกิดจากการสลายของกรดอะมิโน หากกินร่วมกันจะทำให้เกิดความดันโลหิตสูง
ช็อกโกแลต - ยารักษาโรคสมาธิสั้น
คาเฟอีนในช็อกโกแลตมีผลกระตุ้นกับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นที่ต้องใช้ยา Ritalin ซึ่งต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือช็อคโกแลตบาร์เป็นครั้งคราวยังทำได้ แต่การกินมากเกินไปจนระดับคาเฟอีนสูง ควรหลีกเลี่ยงหากต้องใช้ยาชนิดนี้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วผู้ป่วยจะมีอาการกระวนกระวายใจ นอนไม่หลับ และใจสั่น
ภาพจาก www.mirror.co.uk