สำนักข่าว mirror เผยแพร่ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับสุขภาพ โดยรวบรวมมาจากความเชื่อแบบเก่าที่หลายคนจำได้ฝังใจ แต่ความจริงแล้วกลับไม่ใช่อย่างที่เคยรู้กันมา อาทิ ไม่จำเป็นต้องดื่มน้ำถึง 8 แก้วต่อวัน , ผักบางอย่างทานแบบสุกได้ประโยชน์มากกว่าทานดิบ , ไม่ได้มีแค่ปลาเท่านั้นที่มีโอเมกา 3 ฯลฯ เกริ่นนำแค่นี้ก็แปลกใจกันแล้วใช่ไหมเอ่ย แล้วสิ่งที่เรารู้มากก่อนหน้านี้ ตกลงความจริงเป็นอย่างไรกันแน่? ตามไปหาคำตอบพร้อมๆ กันได้เลยจ้า
ความเชื่อแบบเก่า : กินผักสดจะได้รับสารอาหารมากกว่าผักสุก
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการนำผักบางชนิดไปประกอบอาหารจะทำให้ได้รับสารอาหารเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ แครอทสุกมีเบต้าแคโรทีนมากกว่าทานแบบดิบๆ มีประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ช่วยบำรุงผิวพรรณและสายตา ขณะ สารไลโคปีน ที่มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น พบว่าในมะเขือเทศปรุงสุกมีปริมาณสารอาหารมากกว่าแบบดิบ สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เป็นเพราะการปรุงสุกจะทำให้เซลล์แยกออกจากกัน จึงทำให้ได้รับสารอาหารได้มากขึ้น
ข้อแนะนำใหม่ ควรแยกความแตกต่างของผักและผลไม้ เพื่อให้รับประทานได้เหมาะสม ว่าชนิดใดควรจะทานสุกหรือควรนำไปปรุงให้สุกก่อน ทั้งนี้ความร้อนและน้ำจะทำลายวิตามินบี จำพวกโฟเลต และวิตามินซี
ความเชื่อแบบเก่า : ไม่ควรใส่น้ำมันในน้ำสลัดเพื่อคงความโลว์แฟต
งานวิจัยระบุว่าการใส่น้ำสลัดไขมันสูงหรือที่มีส่วนผสมของอะโวคาโดหรือไข่ จะช่วยดูดซึมเบต้าแคโรทีและไลโคปีน รวมทั้งสารต้านมะเร็งอย่างเบต้าแคโรทีได้มากขึ้น
ข้อแนะนำใหม่ Monounsaturated fats หรือไขมันไม่อิ่มตัว ถือเป็นไขมันดี พบในน้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนลาหรือเรฟซีด อะโวคาโอ และไข่ ซึ่งจะดูดซึมสารแคโรทีนอยด์ได้ดีที่สุด เพียงแค่ผสมส่วนประกอบเหล่านี้ลงในสลัดจานโปรดของคุณสักเล็กน้อยก็จะได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น
ความเชื่อแบบเก่า : ห้ามทานไข่เกิน 2 ฟองต่อสัปดาห์
ลดความเสี่ยงคอเลสเตอรอลสูง
วารสารการแพทย์ของอังกฤษเผยแพร่ผลวิจัยยืนยันว่า ไม่พบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นในคนที่ทานไข่ทุกวัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจยังอธิบายเพิ่มเติมอีกด้วยว่า การทานไข่เป็นส่วนช่วยปรับสมดุลสุขภาพ โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะมีความสำคัญในการลดไขมันอิ่มตัวที่เพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือด
ข้อแนะนำใหม่ ไข่ประกอบไปด้วยสารอาหารหลากหลาย ประกอบด้วย โปรตีน , ฟอสฟอรัส, สังกะสี, ธาตุเหล็ก , ไอโอดีนและซีลีเนียม ซึ่งเป็นประโยชน์มากในทางโภชนาการ
ความเชื่อแบบเก่า : ทานมันฝรั่งแล้วจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง
มันฝรั่งอย่างเดียวจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นสูงและลดลงอย่างรวดเร็ว จึงทำให้รู้สึกอยากอาหาร แต่สำหรับค่าดัชนีน้ำตาลจะมีความแตกต่างกันตามอาหารแต่ละประเภท หากเลือกทานอาหารแบบผสมผสานกัน เช่น ทานมันฝรั่งกับเนื้อ ปลา ถั่ว หรือผัก ค่าดัชนีน้ำตาลก็จะแตกต่างกันอย่างมาก เพราะมีส่วนประกอบของไฟเบอร์หรือเส้นใยจากผัก โดยไฟเบอร์จะช่วยชะลอความเร็วของน้ำตาลที่เข้าสู่กระแสเลือด
ข้อแนะนำใหม่ จงสนุกกับการทานมันฝรั่งต่อไป เพราะนอกจากจะมีไขมันต่ำแล้ว หากทานทั้งเปลือกก็ยังจะได้ไฟเบอร์ ช่วยเพิ่มความดันโลหิต ลดโพแทสเซียม และยังได้วิตามินบี 1 อีกด้วย
ความเชื่อแบบเก่า : ควรดื่มน้ำให้ได้ 8 แก้วต่อวัน
โดยเฉลี่ยแล้วร่างกายผู้หญิงต้องการของเหลว 1.6 ลิตรต่อวัน ซึ่งก็จะเท่ากับการน้ำดื่มจำนวน 8 แก้ว ขณะที่ผู้ชายต้องการมากถึง 2 ลิตรต่อวัน แต่ที่จริงแล้วความต้องการของแต่ละคน จะแตกต่างกันตามอายุ วัย ขนาดร่างกาย สภาพอากาศ และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน ที่สำคัญไม่จำกัดด้วยว่าจะของเหลวที่ได้จะต้องเป็นเพียงน้ำบริสุทธิ์เท่านั้น ยังสามารถนับรวมพวกชา กาแฟ น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ฯลฯ ยกเว้นแต่เพียงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้นเอง
ข้อแนะนำใหม่ ความต้องการของเหลวในแต่ละวันจากแตกต่างกัน ทำให้ไม่สามารถนำกฎการดื่มน้ำ 8 แก้วมาบังคับได้ แต่เพราะน้ำดื่มบริสุทธิ์ไม่มีแคลอรี่และเป็นมิตรกับสุขภาพช่องปากทำให้เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ดังนั้นจึงควรพิจารณาประเภทของน้ำแต่ละชนิดให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ณ ขณะนั้นจะดีที่สุด
ความเชื่อแบบเก่า :โปรตีนจากไข่ขาวดีที่สุด
ไข่ขาว 1 ฟองจะมีโปรตีน 4 กรัม ขณะที่ไข่ทั้งฟองจะมีโปรตีน 7.5 กรัม การคัดไข่แดงออกไปถือว่าเป็นการสูญเสียคุณค่าของฟอสฟอรัส , ธาตุเหล็ก , ทองแดง , สังกะสี , ซีลีเนียม , ไอโอดีน และวิตามิน A , B , D , E
ข้อแนะนำใหม่ จงเพลิดเพลินกับการรับประทานไข่ทั้งใบที่อุดมไปด้วยโปรตีน
ความเชื่อแบบเก่า : เลิกทานชีสซะเพราะมีไขมันสูง
แม้ชีสจะมีปริมาณไขมันอยู่ในระดับสูง แต่ก็มาจากส่วนประกอบทางธรรมชาติ ได้แก่ โปรตีน, แคลเซียม , ฟอสฟอรัส , สังกะสี, ไอโอดีน , วิตามิน A , B ขณะที่ผลการวิจัยใหม่ล่าสุดระบุว่าชีสไม่ได้เลวร้ายต่อหัวใจของเรา และยังช่วยเพิ่มไขมันดีอีกด้วย แต่ก็ยังต้องมีการศึกษาวิจัยต่อไป เพื่อยืนยันหลักการดังกล่าว ขณะที่มูลนิธิโรคหัวใจของอังกฤษยังคงแนะนำให้เลือกทานอาหารไขมันต่ำต่อไป
ข้อแนะนำใหม่ ไม่ต้องถึงขั้นหักดิบเลิกทานชีสอันแสนอร่อย แต่ให้เลือกทานในปริมาณที่พอเหมาะหรือไซส์ที่เล็กลง และควรเป็นแบบไขมันต่ำ จำพวก ริคอตต้าชีส มอสซาเรลล่าชีส เฟต้าชีส ฯลฯ
ความเชื่อแบบเก่า : เฉพาะน้ำมันปลาเท่านั้นที่มีกรดไขมันโอเมกา-3
เป็นความจริงที่เนื้อปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมกา-3 แต่ทราบหรือไม่ว่าหอยและปลาสีขาวก็มีสารอาหารมากเช่นเดียวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์โภชนาการแนะนำว่าคนเราควรได้รับกรดไขมันโอเมกา-3 ประมาณ 3,150 มิลลิกรัม ต่อสัปดาห์ หรือเท่ากับ 450 มิลลิกรัมต่อวัน ยกตัวอย่าง ปลาซาบะย่างขนาด 140 กรัม ให้กรดไขมันโอเมกา-3 มากถึง 4,230 มิลลิกรัม ปลาค็อดอบ 180 มิลลิกรัม กุ้งต้ม 266 มิลลิกรัม ทูน่าในน้ำเกลือ 405 มิลลิกรัม หอยแมลงภู่ต้ม 840 มิลลิกรัม ปลากะพงอบ 1,220 มิลลิกรัม
ข้อแนะนำใหม่ ปลาเกือบทุกชนิดต่างก็ให้กรดไขมันโอเมกา-3 เพียงแค่คุณเลือกทานในปริมาณที่เหมาะสมก็เพียงพอแล้ว
ความเชื่อแบบเก่า : คาเฟอีนในกาแฟไม่ดีต่อสุขภาพ
ผลการศึกษาทำให้ทราบว่ากาแฟอาจเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ หากบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ประมาณ 4 แก้วต่อวัน จะมีคาเฟอีน 400 มิลลิกรัม ลดความเสี่ยงในผู้ป่วยเบาหวาน ภาวะสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์ รวมถึงช่วยกระตุ้นให้รู้สึกตื่นตัว ที่สำคัญคือยังไม่มีหลักฐานที่แสดงว่าการดื่มกาแฟในระดับปานกลาง จะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดปัญหากับหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองหรือความดันโลหิตสูง
ข้อแนะนำใหม่ คนรักกาแฟยังสามารถมีความสุขกับการดื่มกาแฟในปริมาณปานกลาง ยกเว้นคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ ควรได้รับคาเฟอีนเพียง 200 มิลลิกรัม หรือประมาณ 2 แก้วต่อวัน
ความเชื่อแบบเก่า : ทานผักสีเขียวจะได้รับธาตุเหล็กมากที่สุด
ผักโขม, ผักคะน้า , ผักสลัดน้ำ , ผักร็อกเก็ต , บรอคโคลี่ ซึ่งมีสีเขียวจะช่วยเพิ่มธาตุเหล็กจริง แต่ต้องกินในปริมาณที่มากถึง 1 กิโลกรัม แต่จริงๆ ธาตุเหล็กในผักใบเขียวนั้นเป็นแบบ non-haem ซึ่งดูดซึมได้ไม่ดีเท่ากับที่อยู่ในเนื้อสัตว์ และผักจำพวกผักโขมยังมีออกซาเลตเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วอีกด้วย
ข้อแนะนำใหม่ จงมีความสุขกับการทานผักใบเขียวแต่ไม่ใช่ทานเพื่อให้ได้ธาตุเหล็กแบบเอาเป็นเอาตาย แต่ให้รวมไปถึงอาหารประเภทอื่นๆ ได้แก่ เนื้อ น้ำมันปลา ไข่ ถั่ว ฯลฯ และการทานผักสีเขียวที่มีวิตามิน C จำพวก ผลไม้ตระกูลส้ม มะเขือเทศ พริก จะช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็กได้มากขึ้น
ความเชื่อแบบเก่า : น้ำมันมะพร้าวดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันธรรมดา
น้ำมันมะพร้าวได้รับความนิยมเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในหมู่คนดัง เพราะชูสรรพคุณว่าสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอล ฟื้นฟูการสูญเสียน้ำหนักและการทำงานของระบบสมอง รวมทั้งบำรุงผิวพรรณ แต่ไม่มีข้อยืนยันทางวิทยาศาสตร์ ขณะที่มูลนิธิโรคหัวใจของอังกฤษ เปิดเผยว่าน้ำมันมะพร้าวมีไขมันอิ่มตัวถึง 86% ขณะที่เนยอยู่ที่ 52% และน้ำมันมะกอกอยู่ที่ 14%
ข้อแนะนำใหม่ น้ำมันมะพร้าวจัดว่ามีปริมาณแคลอรี่อยู่ในระดับสูง จึงควรรับประทานเท่าที่จำเป็น
สรุปแล้วการที่สุขภาพจะดีหรือไม่นั้น การรับประทานอาหารถือว่าเป็นปัจจัยหลักก็ว่าได้ ซึ่งควรเป็นแบบผสมผสาน คำนึงถึงความเหมาะสม ไม่ทานมากหรือน้อยเกินไป ควบคู่กับการออกกำลังกาย เพียงแค่นี้ก็เพียงพอสำหรับสุขภาพที่ดีแล้ว
ภาพจาก www.mirror.co.uk
สุขภาพ
อาหาร
น้ำมันปลา
ความเชื่อ
เก่า
ใหม่
อ้วน
ไขมัน
ผัก
ผลไม้
น้ำมันมะพร้าว
ไข่
น้ำดื่ม
ชีส
โอเมกา
คาเฟอีน