นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การที่จีนใช้นโยบายปรับเงินหยวนให้อ่อนค่าลงนั้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่มาก และที่ผ่านมาได้หารือกับ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. พบว่าไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไทยมีอยู่สูงถึง 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าตั้งแต่ช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา จะมีเงินตราต่างประเทศไหลออกทั้งตราสารหนี้ ตลาดหลักทรัพย์ ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐก็ตาม ซึ่ง ธปท.จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้เงินบาทไทยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 0.25% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค โดยค่าเงินริงกิตมาเลเซียอ่อนค่า 4% ค่าเงินอินโดนีเซียอ่อนลง 1.6% สะท้อนให้เห็นว่าปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง ต่างชาติยังให้ความเชื่อถือ แม้ว่าค่าเงินไทยจะส่งผลให้การส่งออกต้องขายของแพงกว่า 2-3% แต่ก็ยังถือว่าเป็นอัตราที่พอแข่งขันได้ อย่างไรก็ดี เชื่อว่าค่าเงินหยวนจะไม่ปรับตัวอ่อนค่าไปมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าไทยควรใช้โอกาสนี้ให้เป็นประโยชน์ในด้านการลงทุน เพื่อดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน น่าจะเป็นฐานการลงทุนของต่างชาติได้เป็นอย่างดี ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือนายกรัฐมนตรีจะต้องเรียกความเชื่อมั่นต่างชาติให้กลับมา โดยเฉพาะกรณีกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนชะงักลง ซึ่งการที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงตั้งแต่ มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่ใช่ผลกระทบจากการที่จีนปรับลดค่าเงิน แต่เกิดจากความไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งผู้บริหารประเทศอย่างไร
ส่วนในด้านการท่องเที่ยวนั้น เชื่อว่าจะกระทบกับไทยไม่มากเช่นกัน แม้ว่าในปี 2557 จะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามาในไทยถึง 4.6 ล้านคน แต่มาจากคนจีนที่มีพาสปอร์ตเพียง 5% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ดังนั้น หากจากนี้ไปชาวจีนสามารถทำพาสปอร์ตได้เพิ่มขึ้น ก็จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน