ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ออกประกาศควบคุมปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียน โดยมีแนวทางปฏิบัติ 5 ข้อ เริ่มคุมเข้มในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร หวังลดปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน พร้อมขอความร่วมมือพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูร่วมเป็นหูเป็นตา
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามประกาศแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชน โดยมีแนวทางการปฏิบัติ 5 ขัอ ดังนี้
1. ให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ “ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า” โดยมีการติด/แสดงข้อความหรือสัญลักษณ์ปลอดบุหรี่ไฟฟ้า บริเวณทางเข้า - ออก และภายในบริเวณโรงเรียน พร้อมทั้งเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ผ่านทางช่องทางที่หลากหลาย
2. ให้โรงเรียนตรวจกระเป๋านักเรียน ตรวจตราบริเวณอาคารสถานที่ภายในโรงเรียนเป็นประจำ เพื่อเป็นการป้องกันการนำบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน
3. ให้สำนักงานเขตและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องตรวจตราไม่ให้มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าบริเวณรอบโรงเรียน ชุมชน และแหล่งต่าง ๆ ในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานเขต โดยจัดเจ้าหน้าที่บูรณาการร่วมกันระหว่างฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายการศึกษา
4. ให้โรงเรียนจัดทำ Dropbox สำหรับใส่บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อตรวจพบการนำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาในโรงเรียน ให้รีบใส่ไว้ใน Dropbox และจัดทำข้อมูลทะเบียนบุหรี่ไฟฟ้าดังกล่าว พร้อมแจ้งสำนักงานเขตเพื่อประสานดำเนินการต่อไป
5. ให้ศูนย์บริการสาธารณสุขให้ความรู้ ให้คำปรึกษา และตรวจเยี่ยมโรงเรียน ในกรณีที่มีเด็กและเยาวชนเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า หรือสิ่งเสพติดอื่นใด ให้ดำเนินการโดยใช้กระบวนการปรับพฤติกรรมหรือนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาต่อไป
นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า กรุงเทพมหานครได้ให้ความสำคัญกับการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน ซึ่งปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสินค้าผิดกฎหมายได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสร้างฐานลูกค้าที่เป็นเด็กและเยาวชน มีการออกสินค้าในรูปแบบที่หลากหลายเพื่อดึงดูดความสนใจเด็กและเยาวชน ตลอดจนสร้างความรู้และความเข้าใจแบบผิด ๆ ว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
ซึ่งในความเป็นจริงนั้นสร้างปัญหาทางสุขภาพและอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ปกติ ซึ่งปัจจุบัน กรุงเทพมหานครมีผู้สูบบุหรี่จำนวน 1,232,467 คน โดยนักสูบหน้าใหม่มีอายุเฉลี่ยที่ 18.5 ปี และพบว่าเด็กชั้นประถมที่อายุเพียง 6 ขวบ ก็เริ่มมีการสูบบุหรี่แล้ว จึงขอความร่วมมือไปยังพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครู ช่วยกันเป็นหูเป็นตา และให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชน เพื่อให้รู้ทันบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ทั่วไป