“คณิกา” โสเภณี สมัย ร.5 อาชีพที่เคยถูกกฎหมาย
logo ข่าวอัพเดท

“คณิกา” โสเภณี สมัย ร.5 อาชีพที่เคยถูกกฎหมาย

ข่าวอัพเดท : หากพูดถึงอาชีพที่ถูกสังคมตีตราด้อยค่าแน่นอนว่า “โสเภณี” หรือที่ในสมัยนี้ เรียกว่า “Sex Worker” คงจะอาชีพอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนนึกถึง ส โสเภณี,ค้าบริการ,Sex Worker

909 ครั้ง
|
27 พ.ค. 2567

หากพูดถึงอาชีพที่ถูกสังคมตีตราด้อยค่าแน่นอนว่า “โสเภณี” หรือที่ในสมัยนี้ เรียกว่า “Sex Worker” คงจะอาชีพอันดับต้น ๆ ที่ผู้คนนึกถึง สังคมจะตัดสินผู้ค้าบริการทางเพศว่าเป็นคนไม่ดี ใช้เรือนร่างหากิน ตรรกะเช่นนี้มีมานานนับร้อยปีดูถูกเหยียดหยามผู้ที่ประกอบอาชีพนี้ให้ต่ำยิ่งกว่าทาส ไม่มีสิทธิ์ มีเสียง แต่หารู้ไม่อาชีพเก่าแก่ของสยาม หรือประเทศไทยในปัจจุบัน “โสเภณี” เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีหลักฐานปรากฏในจดหมายเหตุของราชทูต เดอ ลาลูแบร์ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ช่วงอยุธยาตอนปลาย พรรณนาถึงที่ตั้งโรงหญิงนครโสเภณีว่ามีหลักแหล่งอยู่นอกเขตพระนคร คือที่ท้ายตลาดบ้านจีนปากคลองขุนละครไชย มีโรงหญิงนครโสเภณีตั้งอยู่ถึง 4 โรง

ประกาศชื่อหน้าโรงว่า “รับจ้างทำชำเราแก่บุรุษ” โรงเหล่านี้ต้องจ่าย “อากรโสเภณี” ส่งคลังหลวงทุกปี- แสดงว่ามีลูกค้าและรายได้ดีมาก ข้อสำคัญเป็นกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย

คำว่า โสเภณี มาจาก โสภา แปลว่า งาม แต่ทุกวันนี้เราใช้คำว่า โสเภณี เรียกแทนหญิงที่หาเลี้ยงชีพด้วยการค้าประเวณี ซึ่งกร่อนมาจากคำว่า “นครโสเภณี” ที่แปลว่า หญิงงามเมือง แต่หากจะเรียกผู้หญิงที่ค้าประเวณีด้วยเรือนร่าง คำว่า “คณิกา” จะตรงความหมายมากกว่าเพราะคำว่า “คณิกา”แปลว่า สตรีที่บุรุษเอาไป

หลักฐานในทางกฎหมายว่าด้วย “การขึ้นทะเบียน” โสเภณีครั้งแรกของไทย ปรากฏในรูปของระบบเจ้าภาษีนายอากรที่ให้มีการผูกขาด “ภาษีบำรุงถนน”เป็นภาษีโสเภณีในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ สำหรับการตั้ง “ภาษีบำรุงถนน” นี้ เป็นไปเพื่อนำเงินที่เก็บได้มาซ่อมแซมบำรุงถนน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มขยายตัวจากการติดต่อการค้ากับต่างประเทศ จำเป็นต้องขยายเมืองให้กว้างขวาง แน่นอนว่าเรื่องขุดคลองสร้างถนนเหล่านี้ต้องใช้เงินทุน

สันนิษฐานว่า ภาษีบำรุงถนนเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีเจ้าภาษีนายอากรรับสนองนโยบาย จนในสมัยรัชกาลที่ 5 ภาษีบำรุงถนนจึงถูกทำให้เป็นระบบมากขึ้น การศึกษาหลักฐานในสมัยรัชกาลที่ 4 พบว่า จัดเก็บภาษีค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นเงิน 50,000 บาท มากกว่าภาษีอีกหลายชนิด ซึ่งภาษีนี้ย่อมทำเงินให้รัฐบาลได้มากทีเดียว ทำให้สันนิษฐานได้ว่า นับตั้งแต่รัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา มีการเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนหญิงโสเภณีเป็นภาษีที่เรียกกว่า “ภาษีบำรุงถนน”

เหตุผลประการสำคัญที่ทำให้เกิด “ภาษีบำรุงถนน” นั้น มาจากกรณีหญิงโสเภณีที่เป็นทาสมักกล่าวโทษนายเงินที่ไถ่เอาหญิงมาเป็นทาสว่าฉ้อฉลเงิน และนายเงินบางรายก็โกงเงินภาษีของรัฐ นอกจากหลักฐานที่ปรากฎในจดหมายเหตุแสดงถึงว่าอาชีพโสเภณีถูกกฎหมาย เก็บกิน “อากรโสเภณี”ตั้งแต่สมัยสมัยอยุธยาล่วงมาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ นโยบายเกี่ยวกับการค้าประเวณีของไทยก็เพิ่งจะเริ่มขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ตามรูปแบบที่รับอิทธิพลมาจากสังคมตะวันตก ภายใต้ชื่อ “พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค รัตนโกสินทร์ศก 127” มีสาระสำคัญอยู่ 5 ข้อหลัก คือ

1) หญิงนครโสเภณีให้เป็นได้แต่โดยใจสมัคร ใครจะบังคับหรือล่อลวงมามิได้

2) ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตราคาสิบสองบาท มีอายุสามเดือนต่อใบ

3) นายโรงหญิงนครโสเภณี ต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการดูแลกันเอง

4) หญิงนครโสเภณีต้องไม่สร้างความรำคาญวุ่นวายแก่บุคคลภายนอก เช่น ฉุดลาก ยื้อแย่ง ล้อเลียน

5) เจ้าพนักงานมีอำนาจเข้าไป เพื่อนำสมาชิกมาตรวจ ถ้าพบโรคก็ให้ส่งไปรักษาจนกว่าจะหาย แลอาจเพิกถอนหรือสั่งพักใช้ใบอนุญาต

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2492 ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นต้นมา รัฐบาลไทยได้ประกาศห้ามจัดตั้งสำนักโสเภณีอย่างเด็ดขาด ตามแนวคิด “คืนคนดีศรีสังคม” เดินตามรอยองค์การสหประชาชาติ ซึ่งไทยก็เป็นรัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้

นับแต่นั้น “โสเภณี” นั้น ได้สูญหายไปจากสังคมไทยเพราะเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย

สุดท้าย ทุกวันนี้ “โสเภณี” หรือ “Sex Worker” นั้นยังผิดกฎหมายอยู่มีเพียงคนบางกลุ่มที่พยายามผลักดันให้รัฐบาลได้เห็นว่าอาชีพนี้ทำรายได้ให้ประเทศปีละหลายล้าน เรียกร้องสิทธิให้อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายเหมือนแต่เดิมเสียที ถึงแม้ว่าในสังคมจะมองว่าอาชีพนี้ไร้ซึ่งเกียรติ และศักดิ์ศรี แต่ใครบ้างจะรู้ว่าเบื้องลึกแล้วผู้หญิงที่ถูกตราหน้าว่าไร้เกียรติเธออาจเป็นเสาหลักของครอบครัวที่มีอาชีพโสเภณีเป็นเครื่องมือหาเลี้ยงปากท้อง หากในวันข้างหน้า “โสเภณี” กลายเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายพวกเธอคงจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ และถ้าเป็นเช่นนั้นในฐานะคนไทยคุณมีทัศนคติอย่างไร