‘อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย’ สร้าง ‘หอดูไฟ’ ลดปัญหาไฟป่าสำเร็จ ชี้ ชาวบ้านเป็นกำลังสำคัญ
logo ข่าวอัพเดท

‘อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย’ สร้าง ‘หอดูไฟ’ ลดปัญหาไฟป่าสำเร็จ ชี้ ชาวบ้านเป็นกำลังสำคัญ

ข่าวอัพเดท : อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย จ.แพร่ สร้างหอดูไฟแห่งแรก พร้อมร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ ป้องกันและดับไฟป่าสำเร็จ ย้ำ ชาวบ้านคือส่วนสำคัญข หอดูไฟ,ปัญหาไฟป่า,จังหวัดแพร่,อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย

391 ครั้ง
|
20 พ.ค. 2567

อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย จ.แพร่ สร้างหอดูไฟแห่งแรก พร้อมร่วมมือกับชาวบ้านในพื้นที่ ป้องกันและดับไฟป่าสำเร็จ ย้ำ ชาวบ้านคือส่วนสำคัญของงาน

อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขต อ.ลอง อ.วังชิ้น จ.แพร่ และ อ.เถิน อ.สบปราบ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ประกอบด้วยป่าดงดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง นอกจากนี้ยังมีป่าสนและทุ่งหญ้าในบริเวณยอดเขาสูง เป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำหลายสาย และยังเป็นพื้นที่ที่มีฤดูกาลของการเกิดไฟป่าทุกปี ทำให้ต้องมีการเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาไฟป่าอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2567 นายประวิทย์ ใจคำ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย จ.แพร่ เปิดเผยว่า พื้นที่การเกิดไฟป่าของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัยจะเกิดอยู่กลางป่า ไม่ได้เกิดอยู่ชายป่า และอุทยานฯ มีพื้นที่เป็นยอดเขาสูงและหน้าผาสูงชัน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปดำเนินการดับไฟได้ ต้องคอยดับไฟอยู่ด้านล่างพื้นที่ และไฟป่าที่เกิดยังกระจายเป็นวงกว้าง

ที่ผ่านมามีการจัดการไฟป่าโดยการลาดตระเวนของเจ้าหน้าที่ เพื่อเฝ้าระวังและดับไฟ แต่ห้ามการเกิดไฟป่าไม่ได้ มีคนเข้าป่าไปจุดไฟเผาป่าตอนไหนก็ไม่อาจทราบ เจ้าหน้าที่จึงต้องมีภารกิจที่หนัก แต่มีชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงอาสาสมัครที่ได้รับงบส่วนกลางของกรมอุทยานฯ เป็นกำลังสำคัญ เข้ามาช่วยในการดับไฟ ​

ความสำเร็จที่ผ่านมาของการควบคุมไฟป่า เจ้าหน้าที่ได้ออกปฏิบัติงานด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่าในพื้นที่รับผิดชอบของอุทยานฯ โดยร่วมมือกับประชาชนบ้านอ้อ บ้านสันป่าเปา และบ้านสันดอนแก้ว ต.สันดอนแก้ว อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเครือข่ายของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ทำแนวกันไฟบริเวณป่าดอยถ้ำแจ้ง เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลามเข้าในเขตป่าอนุรักษ์

นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย ยังมีการสร้าง “หอดูไฟ” เป็นแห่งแรกของพื้นที่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการสอดส่องดูแลพื้นที่ เฝ้าระวังการเกิดไฟป่าไม่ให้ลุกลาม และเข้าไปดับไฟได้ทันท่วงที ซึ่งการสร้างหอดูไฟขึ้น เพื่อเป็นจุดให้เจ้าหน้าที่ใช้ตรวจดูไฟ และสำหรับเป็นจุดตรวจการณ์ โดยรัศมีระยะตรวจการณ์สูงสุดของหอดูไฟจะอยู่ระหว่าง 30-40 กิโลเมตร จากการใช้กล้องส่องทางไกล เนื่องจากอุทยานเวียงโกศัย ไม่มีสถานีควบคุมไฟป่า และไม่มีหน่วยงานบูรณาการในพื้นที่ การป้องกันไฟป่าในพื้นที่จะมีกำลังของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย และชาวบ้านเครือข่ายป้องกันไฟป่า มาอยู่ประจำจุดทุกวัน

​สำหรับหอดูไฟนั้นสร้างจากนั่งร้านจำนวน 7 ชั้น ความสูงประมาณ 11 เมตร สามารถสังเกตการณ์ไฟป่าได้ครอบคลุมในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติเวียงโกศัย และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จางฝั่งซ้าย ในท้องที่อ.แม่ทะและอ.สบปราบ จ.ลำปาง โดยการสร้างหอดูไฟยังเกิดจากความร่วมมือของเจ้าหน้าที่และประชาชนในพื้นที่ที่เห็นคุณค่าของป่าอนุรักษ์ ทำให้ลดผลกระทบของปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองในพื้นที่ ​

หัวหน้าอุทยานฯ กล่าวต่อว่า ความสำเร็จของการสร้างหอดูไฟ คือ สามารถดับไฟป่าในบริเวณนั้นได้หมด และมีการวางแผนการทำงานว่า ในปีหน้าจะสร้างหอดูไฟแบบถาวรให้มีความแข็งแรงกว่าเดิม และสร้างเพิ่มเติมในหลายจุด ครอบคลุมพื้นที่อุทยานฯ แต่ก็ยังมีอุปสรรคในการทำงานคือ เมื่อเกิดไฟป่าในพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง เจ้าหน้าที่ที่ประจำหอดูไฟ ต้องออกมาช่วยดับไฟป่าด้วย ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าของเจ้าหน้าที่ และมีขีดจำกัดในปฏิบัติงานเป็นเวลานาน ซึ่งทางอุทยานฯ ได้นำยุทธวิธีของหน่วยงานไฟป่ามาใช้ ทั้งการลาดตระเวน และการทำแนวกันไฟ

แต่ปัญหาสำคัญ คือ การขาดบุคลากรในการทำงาน ต้องใช้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมาช่วยดับไฟ ปรับจากเจ้าหน้าที่เดิม มาทำงานเฝ้าระวังและดับไฟป่าทั้งหมด คือ คนกลุ่มเดียวกันแต่ทำทุกหน้าที่ และ​อุปกรณ์ในการใช้ดับไฟเราไม่ขาด เช่น มีเครื่องเป่าลม 30 เครื่อง เนื่องจากได้รับงบจากกรมอุทยานฯ และมีภาคีเครือข่ายที่มอบอุปกรณ์ในการดับไฟให้อุทยานฯ ทำให้สามารถใช้อุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อดับไฟ รวมถึงยังมีการมอบอุปกรณ์ให้หมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อให้ชาวบ้านสามารถดับไฟป่าได้ก่อนอย่างทันทีเมื่อเกิดเหตุ ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่ และเฝ้าระวังไฟป่าในพื้นที่รอบเขตอุทยานฯ

ส่วนการวางแผนการทำงานในอนาคตเพื่อแก้ปัญหาไฟป่า มีการแก้ปัญหาด้วยการทดลองทุกวิธีการ บูรณาการทั้งการบังคับใช้กฎหมายและกฎหมู่บ้านหลายวิธีผสมผสานกัน แต่ที่สำคัญ คือ การมีกำลังชาวบ้านในพื้นที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกันกับเจ้าหน้าที่ในการดับไฟ เมื่อเกิดความร่วมมือในพื้นที่ จึงทำให้มีความสำเร็จในการแก้ปัญหาไฟป่าได้ต่อไป