ประเทศไทยเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร ภูมิอากาศของประเทศจึงมีลักษณะร้อนชื้น โดยช่วงที่อากาศร้อนที่สุดจะอยู่ในช่วงกลางเดือนเมษายน ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนจัด ทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นจนไม่สามารถระบายความร้อนได้ทัน จึงเกิดเป็นอาการฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงขั้นสียชีวิตได้
ฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด คือ ภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงถึง 40 องศาเซลเซียส โดยมักเกิดจากการทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักในสภาพแวดล้อมมีอุณหภูมิสูง มีอากาศร้อนชื้นและการถ่ายเทของอากาศไม่ดี ซึ่งบางครั้งอาจเกิดอันตรายต่ออวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หัวใจ ปอด ไต หรือกล้ามเนื้อ และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ นำไปสู่การพิการหรือเสียชีวิตได้
ฮีทสโตรกสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับเด็กเล็กหรือผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าที่ควร รวมไปถึงผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการกระหายน้ำ อุณภูมิร่างกายสูงถึง 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่านั้น ชีพจรเต้นเร็ว มีอาการวิงเวียนศีรษะ และคลื่นไส้อาเจียน บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหมดสติ
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบคนที่เป็นฮีทสโตรก
1. นำผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในที่ร่ม อากาศถ่ายเทได้สะดวก
2. ให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกเท้าสูงทั้งสองข้างเพื่อให้เลือดไหลไปเลี้ยงสมอง
3. คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามซอกคอ ตัว รักแร้ ขาหนีบและหน้าผาก รวมถึงใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน เพื่อให้อุณหภูมิของร่างกายลดลงโดยเร็วที่สุด
4. รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันฮีทสโตรก
1. สวมเสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เลือกเสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี ป้องกันแสงแดดได้
2. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หรือที่ที่ร้อนจัด อากาศไม่ถ่ายเท
3. จิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อลดอุณหภูมิภายในร่างกาย
4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง
5. สวมอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นตา
6. เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรได้รับการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวร่วมด้วย เนื่องจากยารักษาโรคบางชนิดส่งผลต่อความสามารถของร่างกายในการควรคุมอุณหภูมิความร้อน
7. หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ทันที
นอกจากฮีทสโตรกจะเป็นภัยอันตรายที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์อย่างเรา ๆ แล้ว ฮีทสโตรกยังสามารถเกิดขึ้นกับเหล่าสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวได้อีกด้วย โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงที่มีขนเยอะ ดังนั้นนอกจากจะต้องคอยสังเกตอาการผู้คนรอบตัวแล้ว การคอยสังเกตอาการสัตว์เลี้ยงก็เป็นสิ่งที่จำเป็นเช่นกัน เพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือและนำตัวส่งโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที
ที่มา : Bangkok Hospital, โรงพยาบาลสินแพทย์