นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แถลงใหญ่ชี้แจงความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ทั้งเงื่อนไข แหล่งที่มาของเงินและคุณสมบัติร้านค้า พร้อมดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 4 นี้
นโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นนโยบายที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเพื่อให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจทุกพื้นที่ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจ และการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลและเตรียมความพร้อมประเทศให้เข้ากับเศรษฐกิจสมัยใหม่ ซึ่งรัฐบาลได้ผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบของภาษี โดยให้สิทธิ์กับประชาชนจำนวน 50 ล้านคนผ่าน Digital Wallet วงเงิน 5 แสนล้านบาท และกำหนดให้ใช้จ่ายในร้านค้ากำหนด ซึ่งประชาชนและร้านค้าจะได้ลงทะเบียนในไตรมาสที่ 3 และได้รับเงินในไตรมาส 4 นี้
ในส่วนแหล่งที่มาของเงิน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง ได้กล่าวชี้แจงว่า วงเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ที่จะใช้ในการดำเนินนโยบายรัฐบาลสามารถบริหารจัดการผ่านกระบวนการงบประมาณได้ทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 จำนวน 157,200 ล้านบาท
2.การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ดูแลกลุ่มประชาชนเป็นเกษตรกรจำนวน 17 ล้านคน ผ่านมาตรา 28 ของปีงบประมาณ 2568
3.การบริหารจัดการเงินประมาณในปี 2567 ของรัฐบาล จำนวน 175,000 ล้านบาท โดยพิจารณาปรับตามความเหมาะสมเพื่อนำเงินมาใช้ในส่วนนี้
โดยในวันแรกที่เริ่มโครงการจะมีเงินจำนวน 500,000 ล้านบาทพร้อมใช้ ไม่มีการสำรองเงินสกุลอื่น หรือใช้มาตราการอื่นแทนเงินดังกล่าว จึงขอให้ประชาชนมั่นใจว่าได้มีการดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายวินัยการเงินการคลัง กฎหมายงบประมาณ หรือกฎหมาย พ.ร.บ เงินตรา
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงสาเหตุและความจำเป็นในการดำเนินการนโยบายนี้ ว่า คณะกรรมการให้ความเห็นชอบว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2567 คาดว่าจะลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจไทยในอดีตที่ผ่านมา เพราะเกิดปัญหาต่าง ๆ จากภายนอกและภายในของประเทศ เช่น ปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ การฟื้นตัวของรายได้ประชาชนที่มีความเหลื่อมล้ำจากช่วงหลังการเกิดสถานการณ์ Covid-19 ปัญหาหนี้ครอบเรือนและภาระหนี้ที่สูง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า
รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มเงินหมุนเวียนในประเทศไทย ให้กระจายตัวไปสู่พื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง โดยมีขอบเขต และเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ควบคู่กับการระมัดระวังและป้องกันความเสี่ยงของด้านการคลัง รวมถึงมีแนวทางในการช่วยลดผลกระทบดังกล่าว เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนโดยรวม ตลอดจนการรักษาวินัยทางการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
รายละเอียดเงื่อนไขของโครงการ
กลุ่มเป้าหมาย
1.ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีเกณฑ์ดังนี้
2.ผู้ที่มีอายุมากกว่า 16 ปีขึ้นไป
3.ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินมากกว่า 840,000 บาทต่อปีภาษี
4.มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท
เงื่อนไขการใช้จ่าย
1. ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2. ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดของร้านค้า
ทั้งนี้การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น (ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด) ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
3. สินค้าทุกประเภทสามารถใช้จ่ายในโครงการได้ ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ และออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรางพาณิชย์จะกำหนดขึ้น
คุณสมบัติร้านค้า
ร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการได้ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษีเท่านั้น มี 3 ประเภทดังนี้
1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT)
3.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (PIT) เฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพค้าขาย หรือผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากรเท่านั้น
ทั้งนี้ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย จะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เพื่อลดความเสี่ยงการทุจริต และเพิ่มผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ประชาชนและร้านค้าสามารถเข้าร่วมได้ภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 และเริ่มใช้จ่ายได้ภายในไตรมาสที่ 4 ของปีเดียวกัน
การจัดทำระบบ จะเป็นการพัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่น ๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ โดยรัฐบาลจะดำเนินโครงการให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย