“การตั้งครรภ์นอกมดลูก” ภาวะผิดปกติที่คุณแม่ต้องระวัง !
logo ข่าวอัพเดท

“การตั้งครรภ์นอกมดลูก” ภาวะผิดปกติที่คุณแม่ต้องระวัง !

ข่าวอัพเดท : การตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งที่เสี่ยงอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคุณแม่จะดูแลดีแค่ไหน แต่ในบางครั้งมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือความผ การตั้งครรภ์นอกมดลูก,ท้องนอกมดลูก,ตั้งครรภ์,ท้อง,ภาวะผิดปกติ,ตั้งครรภ์ผิดปกติ

481 ครั้ง
|
09 ต.ค. 2566
การตั้งครรภ์ถือเป็นสิ่งที่เสี่ยงอันตรายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าคุณแม่จะดูแลดีแค่ไหน แต่ในบางครั้งมักจะเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือความผิดปกติที่ไม่รู้ตัว อย่าง “การตั้งครรภ์นอกมดลูก” เป็นอีกความผิดปกติที่คุณแม่ต้องระวังและต้องได้รับการการรักษาอย่างเร่งด่วน
 
โดย พญ. ธาริณี ลำลึก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลพญาไท 2 ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์นอกมดลูก ไว้ดังนี้
 
การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) คืออะไร ?
คือ ภาวะที่ตัวอ่อนฝังตัวอยู่บริเวณอื่นที่ไม่ใช่โพรงมดลูก มักเกิดขึ้นบริเวณท่อนำไข่ (ปีกมดลูก) ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปเป็นทารกได้ หากมีการตั้งครรภ์นอกมดลูกและไม่ได้รับการรักษา ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตภายในท่อนำไข่และทำให้ท่อนำไข่แตก ซึ่งจะเกิดการเสียเลือดและตกเลือดในช่องท้องจนเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้
 
สาเหตุของการตั้งครรภ์นอก
1. ท่อนำไข่มีลักษณะผิดรูป ทำให้ตัวอ่อนไม่สามารถเคลื่อนที่ไปฝังตัวในโพรงมดลูกได้ ท่อนำไข่ผิดรูปร่างมักเกิดจากสาเหตุดังนี้
- อุ้งเชิงกรานอักเสบจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทำให้มีพังผืดบริเวณท่อนำไข่
- มีรอยแผลและพังผืดจากการผ่าตัด
- เคยมีประวัติการตั้งครรภ์นอกมดลูกมาก่อน
การทำหมันหรือการแก้หมันหญิง
2. เกิดจากการใช้ยาและฮอร์โมน
3. เกิดความไม่สมดุลของฮอร์โมนในกระบวนการตั้งครรภ์
4. คุณแม่ตั้งครรภ์เมื่อมีอายุตั้งแต่ 35 ปี ขึ้นไป ทำให้มีความเสี่ยงที่อวัยวะในระบบสืบพันธุ์อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือทำงานด้อยประสิทธิภาพลงกมดลูก
 
อาการของการตั้งครรภ์นอกหมดลูก
1.ปวดท้องน้อย ปวดร้าวไปถึงบริเวณทวารหนัก ต้นขาหรือไหล่
2.มีเลือดออกจากช่องคลอด ส่วนใหญ่เลือดจะออกไม่มาก
3.หน้ามืด เป็นลม หรือมีภาวะช็อก
 
การวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูก
1.แพทย์จะซักถามประวัติอาการ การมีประจำเดือนร่วมกับการตรวจร่างกายบริเวณหน้าท้อง
2.การตรวจภายใน
3.ตรวจเลือดหาฮอร์โมน HCG และ อัลตร้าซาวด์ผ่านทางช่องคลอดจะไม่พบตัวอ่อนในโพรงมดลูก แต่จะพบตัวอ่อนนอกโพรงมดลูก
 
การรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูก
1.การใช้ยา โดยใช้ยาเคมีบำบัด คือ ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate) ซึ่งเป็นยาที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ ซึ่งในกรณีที่ใช้ยาแล้วไม่ตอบสนองต่อการรักษา จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อไป โดยจะพิจารณาใช้ยาในกรณีที่ขนาดของถุงการตั้งครรภ์ไม่ใหญ่เกินไป และผู้ป่วยยังไม่มีอาการเสียเลือดมากหรือภาวะช็อก
2.การผ่าตัด โดยกรีดท่อนำไข่ นำตัวอ่อนออกและเย็บซ่อมท่อนำไข่ วิธีนี้จะเป็นการรักษาท่อนำไข่ไว้แต่จะมีโอกาสเกิดตั้งครรภ์นอกมดลูกซ้ำ หรือการผ่าตัดท่อนำไข่ออก โดยวิธีการผ่าตัดแบ่งเป็น 2 วิธีคือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องและการผ่าตัดแบบส่องกล้อง ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องผู้ป่วยจะมีแผลเล็กกว่าและฟื้นตัวเร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง
3.การรักษาภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะช็อกจากการเสียเลือดมาก อาจจะต้องได้รับเลือดทดแทน ภาวะอักเสบติดเชื้อ อาจต้องได้รับยาลดการอักเสบและยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
 
การป้องกันการตั้งครรภ์นอกมดลูก
ภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูกไม่สามารถควบคุมได้ แต่สามารถลดปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อความเสียหายต่ออวัยวะในช่องท้องและระบบสืบพันธุ์ ซึ่งจะนำไปสู่การท้องนอกมดลูกในที่สุดได้ เช่น
 
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการอักเสบติดเชื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน
- รักษาสุขภาพ ไม่สูบบุหรี่ เพราะผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่มีความเสี่ยงสูงในการท้องนอกมดลูก
- คุณแม่ควรสังเกตอาการขณะตั้งครรภ์ โดยหากมีอาการปวดท้องมากเกินไป มีเลือดออกผิดปกติ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว