ข่าวเย็นประเด็นร้อน - โฆษกศาล ชี้แจงขั้นตอนการดำเนินคดีเยาวชนที่ทำผิด ตำรวจต้องคุมส่งศาลภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบการจับกุมว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ส่วนพ่อแม่อาจต้องรับผิดทางแพ่งด้วย
โฆษกศาลชี้แจงขั้นตอนดำเนินคดี พ่อ-แม่อาจต้องรับผิดทางแพ่ง
นายสรวิศ ลิมปรังษี โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงแนวทางการดำเนินคดีกับผู้ก่อเหตุ ซึ่งเป็นเยาวชนอายุ 14 ปี โดยการจับกุมเยาวชน ศาลเยาวชนฯ จะมีกระบวนการตรวจสอบการจับกุมตามกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวน ต้องนำตัวเด็กหรือเยาวชนส่งศาลเยาวชนฯ ภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อให้ศาลตรวจสอบการจับก่อนว่าการจับกุมเด็กหรือเยาวชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของเยาวชน เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
ปกติการจับกุมเด็กหรือเยาวชนที่กระทำความผิด กฎหมายให้อำนาจพนักงานสอบสวน ควบคุมตัวไว้ได้ไม่เกิน 24 ชั่วโมง ส่วนมากจะนำตัวมาส่งศาลเยาวชนฯ เพื่อให้ศาลใช้ดุลยพินิจว่าจะควบคุมตัว หรือจะให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างไรต่อไป หลังจากตรวจสอบการจับกุม ศาลจะรอดูรายงานการจับกุมจากพนักงานสอบสวนที่นำส่งมาให้ศาลพิจารณาว่าพฤติการณ์ของเยาวชนรายนี้ เป็นอย่างไรบ้าง เช่น ศาลจะดูว่าเด็กก่อเหตุยิงไปกี่คน สภาพทางจิตใจ การรักษาพยาบาลทางจิตหรือไม่ การดูแลของพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นอย่างไร
พนักงานสอบสวนจะต้องใส่มาในรายงานให้ศาลพิจารณา และในการตรวจสอบการจับ พนักงานสอบสวนจะต้องเดินทางมาศาลเยาวชนฯ ด้วย ซึ่งศาลอาจทำการไต่สวนพนักงานสอบสวนเพิ่มเติมถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่พนักงานสอบสวนใส่มาในรายการการจับกุม จากนั้นศาลจะพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนว่า จะใช้ดุลยพินิจในการปล่อยตัว หรือจะควบคุมตัวเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุหรือไม่
ส่วนกรณีเด็กที่มีเรื่องของอาการป่วยทางจิตนั้น หากศาลเห็นว่าถ้าพ่อแม่เด็กดูแลเด็กได้ ก็จะให้พ่อแม่หรือผู้ปกครองดูแล และอาจวางมาตรการต่าง ๆ กำหนดไว้ แต่หากพ่อแม่เด็กดูแลไม่ได้ อาจให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ดูแลด้านเด็กดูแลแทน หรือสถานที่อื่นที่ศาลเห็นสมควร เช่น สถานดูแลทางจิตเวช แต่ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของเด็กว่ารุนแรงขนาดไหน และต้องใช้มาตรการอะไรที่จะมาควบคุมดูแลเด็กเหล่านี้
ในส่วนของพ่อแม่ของเด็กนั้น ตามกฎหมายหากเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ พ่อแม่ต้องรับผิดด้วย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 เว้นแต่พ่อแม่จะพิสูจน์ข้อยกเว้นตามกฎหมายได้ว่า ตนเองไม่ได้มีส่วนผิด
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวด้วยว่า กฎหมายให้ดูพฤติการณ์ของแต่ละเรื่องไป ยกตัวอย่างเช่น ในหนึ่งคดีมีเด็กทำผิดกฎหมาย 10 คน ศาลอาจใช้มาตรการที่ต่างกันไปของทั้ง 10 คน ก็เป็นไปได้ ขึ้นอยู่กับพฤติการณ์และความจำเป็นของเด็กแต่ละคน เหมาะสมแค่ไหน
ทิชา ฟันธง อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้ คดีนี้ต้องมีจำเลยร่วม
ขณะที่ นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก โพสต์เฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื้อหาระบุว่า เด็กอายุ 14 ปี ที่ก่อเหตุต้องรับผลจากการกระทำ เพราะได้พรากชีวิตผู้บริสุทธิ์และทุกคนต่างมีห่วงโซ่ชีวิต แต่เชื่อไหมว่าในวันที่เขาเป็นเด็กน้อย เขาไม่คิดหรอกว่าตัวเองจะเดินทางมาถึงวันนี้ ตรงนี้ใคร อะไร ทำไม ที่เปลี่ยนเด็กน่ารักเป็นผู้ก่ออาชญากรรม เป็นจำเลย แน่นอน ต้องไม่ใช่แค่ตัวเด็กเท่านั้นที่นำเขามาถึงจุดนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเลยร่วมของเด็กน้อยคือพ่อแม่ที่รักลูกที่สุด
ที่สำคัญต้องไม่ปฏิเสธว่าระบบนิเวศทางสังคม คือ การเมือง คือรัฐบาล คือระบบราชการ และไม่ขอโทษ คือจำเลยร่วมที่ลอยนวลในทุกอาชญากรรม ทุกโศกนาฏกรรม
หากผู้ออกแบบสังคม เห็นแต่ความเป็นจำเลยของเด็กน้อยโดยไม่เห็นพ่อแม่ ไม่เห็นระบบนิเวศทางสังคมและไม่ลงทุน เราต้องอยู่กับอาชญากรรมและโศกนาฏกรรมนี้ตลอดไป ติดแฮชแท็ก #อาชญากรเด็กเป็นเองไม่ได้
อาจารย์เฉลิมชัย ย้ำ ! ผู้ปกครองต้องดูแลลูกให้ดี
ขณะที่ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ระบุว่า เหตุการณ์นี้พ่อแม่และครอบครัวมีส่วนสำคัญในการดูแลบุตรหลาน ตนเองไม่โทษเด็ก แต่โทษพ่อแม่และครอบครัวที่ต้องดูแลลูกหลานให้ดี ส่วนการปล่อยให้เด็กเล่นเกมที่มีความรุนแรง ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์
อาจารย์เฉลิมชัย ยังบอกด้วยว่า นอกจากพ่อแม่แล้ว บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ ครูบาอาจารย์ และคนในสังคม ต้องช่วยกันดูแลเยาวชนในชาติ อย่างทำตัวอย่างที่ไม่ดีให้เด็กเห็น
ติดตาม รายการ “ข่าวเย็นประเด็นร้อน” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.45-17.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35