พ่อแม่หลายคนอาจมีความกังวลใจเมื่อสังเกตพบว่าลูกน้อยยังไม่เริ่มพูด หรือพูดช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน กลัวว่าลูกจะมีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปเด็กจะมีการพูด หรือพัฒนาการทางด้านภาษาตั้งแต่แรกเกิด เริ่มตั้งแต่การส่งเสียงร้องไห้ และประมาณ 2-3 เดือนต่อมา ก็จะเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้บ้าง เหมือนเป็นการพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้เลี้ยงดู และพัฒนามาเรื่อยๆ จนเป็นเสียงหัวเราะ ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ เล่นน้ำลาย เป่าปาก ส่งเสียงจากลำคอ ทำตามคำพูดหรือคำถาม และ เด็กจะพัฒนาจนพูดเป็นคำพูดในช่วงประมาณ 1 ขวบ จากนั้นจะเริ่มพูดคำที่มีความหมาย 2 คำติดกันเมื่ออายุประมาณ 2 ขวบ จนกระทั่งพูดเป็นประโยคยาวๆ ได้ในประมาณ 3-4 ขวบ
จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีความผิดปกติทางการพูด ?
ลองสังเกตลูกน้อยของคุณ หากมีอายุประมาณ 2 ขวบแล้ว ยังพูดคำที่มีความหมายไม่ได้เลย หรือพูดได้แค่คำศัพท์คำเดียว สื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ แบบนี้จะถือว่าผิดปกติ อย่างไรก็ตามไม่ควรรอจนกระทั่งอายุ 2 ขวบ หากได้สังเกตตามช่วงอายุดังที่กล่าวไป พบว่าลูกไม่สามารถสื่อสารตามพัฒนาการที่ควรจะเป็นได้ หรือหากเราพูดหรือสั่งลูกแล้ว เด็กไม่เข้าใจว่าเราพูดว่าอะไร หรือเรียกชื่อแล้วไม่หัน แสดงว่าลูกอาจมีความผิดปกติด้านการพูดจากการฟัง ควรรีบพาลูกเข้าพบแพทย์ เพื่อปรึกษา ตรวจ วินิจฉัยหาสาเหตุ และหาทางรักษาต่อไป
เด็กพูดช้าเกิดจากสาเหตุใด ?
1. การได้ยินผิดปกติ (Hearing Impairment) ซึ่งมักพบได้ในเด็ก 1-2 คน ต่อประชากร 1,000 คน โดยอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ เด็กที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติเพียงบางส่วน พบว่ามักมีปัญหาพูดไม่ชัด แต่พัฒนาการทางภาษาใกล้เคียงเด็กปกติ และเด็กที่มีปัญหาการได้ยินผิดปกติชัดเจน เช่น หูหนวกตั้งแต่กำเนิดหรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น การติดเชื้อแต่กำเนิด (Torch infection)ฯลฯ จะพบว่ามีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า หรือไม่สามารถพูดได้ และมักใช้ภาษาท่าทางในการสื่อความหมาย
2. ปัญหาพัฒนาการล่าช้าโดยรวม ซึ่งมักพบว่ามีพัฒนาการด้านอื่นล่าช้าด้วย และทำให้เด็กเรียนรู้การพูดและการใช้ภาษาช้าทั้งนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้การตรวจคัดกรองพัฒนาการเป็นหลัก
3. ภาวะออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder) ซึ่งอาจสังเกตภาวะผิดปกติ 3 อย่าง คือ ไม่สนทนา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว โดยเด็กที่มีแนวโน้มเป็นออทิสติกมักจะมีปัญหา คือ การสื่อสารโดยใช้ท่าทาง การมีอารมณ์ร่วมกับผู้อื่นและทักษะการเล่นที่ช้ากว่าวัย
4. พัฒนาการทางภาษาผิดปกติ (Developmental language disorder - DLD) หรือ ความบกพร่องเฉพาะด้านภาษา แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
• กลุ่มที่มีพัฒนาการทางภาษาด้านการพูดช้ากว่าวัยแต่เพียงอย่างเดียว (Isolated expressive language disorder) ซึ่งมีความบกพร่องในการเปล่งเสียงในภาษาพูด หรือเริ่มพูดช้ากว่าวัยเดียวกัน แต่เมื่อพูดได้จะสามารถสื่อสารและการเรียนรู้ได้ทันเด็กวัยเดียวกัน
• กลุ่มที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางภาษาที่มีการแสดงออกและความเข้าใจภาษาล่าช้า (Mix receptive-expressive language disorder) ซึ่งมักมีความล่าช้าในการเรียนรู้และเข้าใจในคำศัพท์ เช่น ใช้ศัพท์ไม่ถูกความหมาย พูดสลับคำในประโยคที่ยาวหรือซับซ้อน
• กลุ่มที่มีความผิดปกติของพัฒนาการของสมองชั้นสูงในการใช้ภาษา (Higher order processing disorder) ความผิดปกตินี้ทำให้เกิดความบกพร่องในการใช้คำศัพท์และการใช้ภาษาอย่างเหมาะสมกับกาละเทศะ ซึ่งส่งผลต่อการเข้าสังคมและการสื่อสารกับผู้อื่น
นอกจากนี้พบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการพูดช้าในปัจจุบัน คือ การให้เด็กดูจอ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แทปเลต โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ หรืออื่นๆ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “จอ” ไม่ใช่พี่เลี้ยงเด็ก ดังนั้น จึงไม่ควรปล่อยให้ลูกดูจอเพียงลำพังหรือใช้เวลากับหน้าจอมากเกินไป เพราะจอเป็นการสื่อสารแบบทางเดียว และไม่ได้ช่วยทำให้ลูกพูดเร็วขึ้น โดย อ.พญ.จิตรลดา ให้คำแนะนำ ดังนี้
• ก่อน 2 ปี ไม่ควรให้ลูกดูจอทุกชนิดเด็ดขาด
• หลังจาก 2 ปี ให้ดูได้ แต่จำกัดเวลา วันละ 1 ชั่วโมง และผู้ปกครองควรนั่งดูด้วย เพื่อเลือกสื่อที่เหมาะสมกับเด็ก และให้คำแนะนำขณะดูจอ
ทำอย่างไร เมื่อพบว่าเด็กพูดช้า หรือไม่ยอมพูด ?
หากสังเกตพบว่าลูกของเรา เหมือนจะเป็น “เด็กพูดช้า” หรือรู้สึกว่าทำไม “ลูกไม่พูด” ควรพาไปพบกุมารแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการตามความเหมาะสม หรืออาจพบผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา นักตรวจการได้ยินหรือนักแก้ไขการพูด เป็นต้น
ส่วนป้องกันหรือแก้ไข ปัญหาการพูดช้าของลูก คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริม พัฒนาการทางการพูด แก่เด็กให้เร็วที่สุด โดยฝึกให้เด็กเรียนรู้ภาษาตั้งแต่อายุน้อยๆ เพราะการรู้เร็วจะช่วยการแก้ไขและยังส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ ของเด็กได้เร็วขึ้นด้วย
พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กตามปกติ
ช่วงอายุ 1-4 เดือน ส่งเสียงอ้อแอ้ สนใจเสียงผู้ที่มาคุยด้วย คุ้นเคยกับเสียงคนใกล้ชิด
ช่วงอายุ 5-6 เดือน ตอบสนองเมื่อถูกเรียกชื่อ เริ่มหันหาเสียงและเลียนเสียงผู้อื่น
ช่วงอายุ 9-12 เดือน เริ่มพูดได้เป็นคำพยางค์เดียว ให้ท่าทางสื่อความหมายร่วมด้วย
ช่วงอายุ 1-1.5 ปี มีการโต้ตอบชัดเจน สามารถทำตามคำสั่งได้ เริ่มพูดคำที่มีความหมายได้
ช่วงอายุ 1.5-2 ปี พูดได้ 50-80 คำ เริ่มรวมคำ เข้าใจคำสั่งที่ยากขึ้น
ช่วงอายุ 2-3 ปี สามารถพูดเป็นประโยคได้ ตอบได้ พูดคุยสื่อสารรู้เรื่องมากขึ้น
พัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กที่ผิดปกติ
ช่วงอายุ 6-10 เดือน ไม่ส่งสัญญาณการพูด ไม่หันมาตามเสียง ไม่เลียนแบบ
ช่วงอายุ 15 เดือน ไม่สามารถทำตาม ไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ยังไม่พูดคำแรก และไม่มีภาษาทางกาย
ช่วงอายุ 1-2 ปี ไม่เริ่มการสื่อสารและไม่เข้าใจคำถามหรืออาจจะพูดไม่หยุด แต่ไม่สื่อสารในเรื่องเดียวกัน
ช่วงอายุ 3 ปี ไม่บอกความต้องการ ไม่เข้าใจและไม่เคยใช้ประโยคคำถาม หรืออาจจะพูดเป็นภาษาสคริปต์ ที่ไม่ใช่ภาษาของเด็กวัยเดียวกัน
การเลี้ยงดูลูกเป็นส่วนสำคัญเช่นกันที่ส่งผลต่อพัฒนาการของเด็ก
เช่น การเลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง การให้เด็กเรียนรู้การสื่อสารจากโทรทัศน์ แท็บเล็ต ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติของพัฒนาการด้านภาษาและการพูดของเด็กโดยตรง แต่ส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพัฒนาการด้านต่าง ๆ
โดยทั่วไปเด็กวัย 0-7 ปี การเล่นและการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมีความสำคัญมาก ซึ่งจะส่งผลให้เด็กเรียนรู้การสื่อสาร การตอบสนอง ทั้งยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์ความรู้สึกได้เป็นอย่างดี หากเด็กขาดการเล่นจะส่งผลต่อพัฒนาการในทุกด้าน ดังนั้นแนวทางการรักษาจึงมุ่งเน้นให้เด็กรู้จักเล่นและมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างเป็นหลัก เพื่อฝึกฝนทักษะด้านต่าง ๆ รวมถึงการพูดและการสื่อสาร จากนั้นแพทย์จะทำการประเมินระดับของพัฒนาการเด็ก เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่าง ๆ ต่อไปตามลำดับ ในการรักษานอกจากแพทย์แล้วผู้ปกครองยังมีความสำคัญมาก ขณะที่เด็กอยู่บ้านพ่อแม่จึงจำเป็นต้องให้ความร่วมมือในการเสริมสร้างพัฒนาการเด็กร่วมด้วย
โอกาสที่เด็กจะสามารถพูดได้เหมือนคนปกติหลังการรักษา
ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ทำให้เด็กมีความผิดปกติในพัฒนาการด้านภาษาและการพูด แต่โดยทั่วไปแพทย์จะทำการรักษาไปตามหลักการ ซึ่งเป็นพื้นฐานการรักษาทั่วไป ซึ่งไม่สามารถการันตีได้ว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเหมือนกันทุกราย
ยกตัวอย่าง หากเด็กมีความผิดปกติในเรื่องของการได้ยิน แพทย์อาจทำการใส่เครื่องช่วยฟังหรือผ่าตัดหูชั้นในเทียมให้เด็ก จากนั้นจะทำการฝึกพัฒนาการร่วมด้วยตามลำดับ อาจช่วยให้เด็กมีพัฒนาการตามวัยได้ แต่ถ้าหากเด็กมีความผิดปกติทางด้านสมอง แพทย์ก็จะทำการฝึกพัฒนาการให้ตามหลักการเช่นกัน แต่หลังการรักษาเด็กอาจไม่สามารถพูดได้เหมือนคนปกติ แต่อาจสื่อสารได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น
ทั้งนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเฝ้าสังเกตเด็กอย่างสม่ำเสมอ เพื่อประเมินว่าเด็กมีพัฒนาการตามวัยหรือไม่ หากพบความผิดปกติควรรีบพาเด็กพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ก็จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เมื่อใดถือว่าเสี่ยงพูดช้า และเมื่อใดถือว่าเป็นเด็กพูดช้า
เด็กที่ถือว่ามีความเสี่ยงพูดช้า และเด็กที่ถือว่ามีภาวะพูดช้ากว่าปกติ สามารถสรุปได้ดังนี้
ภาวะเสี่ยงพูดช้า
• เด็กที่ไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายได้เลย เมื่ออายุ 15 เดือน
• เด็กที่ไม่สามารถพูดเป็นคำที่มีความหมายอย่างน้อย 3 คำ เมื่ออายุ 18 เดือน
คำนิยามภาวะพูดช้า
• เด็กไม่สามารถพูดคำที่มีความหมายต่างกัน 2 คำ ต่อเนื่องกัน และพูดคำศัพท์น้อยกว่า 50 คำ เมื่ออายุ 24 เดือน
• เด็กไม่สามารถพูดประโยคที่สมบูรณ์หรือเด็กสามารถสื่อสารให้คนอื่นฟังรู้เรื่องน้อยกว่าร้อยละ 50 ของสิ่งที่เด็กพูด เมื่ออายุ 36 เดือน
แนวทางการให้ความช่วยเหลือ
• พ่อแม่ผู้ปกครองควรออกเสียงพูดให้ชัดเจน เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก
• พูดในสิ่งที่เด็กสนใจ
• ให้เด็กเรียนรู้ภาษาผ่านกิจกรรมการเล่น เช่น การอ่านนิทาน ชี้ให้ดูรูปในนิทาน อ่านสิ่งที่เด็กสนใจและงดดูจอทุกชนิด
วิธีฝึกการพูดเบื้องต้น
• ฝึกให้เด็กพูดในสภาพแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ
• การตั้งคำถามกับเด็กอย่างเหมาะสม เช่น เรียกว่าอะไร ตอนนี้อยู่ไหน เรากำลังทำอะไรอยู่
• เป็นผู้ฟังที่ดี เวลาเด็กพูดให้เราจ้องหน้า มองตา ตั้งใจฟังในสิ่งที่เด็กต้องการสื่อสาร
• ขยายความในส่วนของเด็ก เพื่อเติมคำพูดให้สมบูรณ์
ที่มา