ประธานสหภาพการรถไฟฯ ยื่นหนังสือจี้ผู้ว่า รฟท. ให้ตรวจสอบปมเปลี่ยนป้ายชื่อรถไฟ 33 ล้านบาท ชี้ รฟท.ข้ามขั้นตอนประกวดราคา
กรณีโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย มูลค่าโครงการ 33,169,726.39 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) กลายเป็นที่วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียถึงความเหมาะสมในการใช้งบประมาณ ตามที่มีการรายงานข่าวไปก่อนหน้านี้
ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของทางสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อ นายสราวุธ สราญวงศ์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) เดินทางไปยื่นหนังสือขอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.ตรวจสอบถึงกระบวนการว่าจ้าง เพราะว่าปกติแล้วการรถไฟจะมีกระบวนการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อยู่แล้ว และจะต้องมีการประกาศเชิญชวนเรื่องของการคัดเลือก หากท้ายสุดไม่มีใครมายื่นเสนอราคา จึงจะใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง แต่ทางสหภาพ รฟท.มองว่า การบริการผู้โดยสารคือความจำเป็นเร่งด่วนที่สุด ส่วนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงป้ายชื่อรถไฟแม้มีความจำเป็นจริง แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง หากดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างฯ อาจจะได้คุณภาพและราคาถูกมากกว่านี้ จึงต้องการให้การรถไฟแห่งประเทศไทยตรวจสอบ
ประธานสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า เมื่อตรวจสอบในเว็บไซต์ของการรถไฟฯ พบว่า เอกสารมีการระบุวิธีเฉพาะเจาะจง แต่รายละเอียดปริมาณงานต่าง ๆ ไม่พบเอกสารที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ส่วนจะเข้าข่ายฮั้วหรือไม่นั้น ตนมองว่าหากเปิดให้มีการเสนอราคาจะได้สิ่งที่ดีที่สุด และราคาที่เหมาะสมที่สุด
ส่วนเรื่องงบประมาณจำนวน 33 ล้านบาท จำนวน 56 ตัวอักษร รวมทั้งในส่วนของตราโลโก้ของการรถไฟฯ เฉลี่ยตัวละ 5.8 แสนบาท จึงมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าความเป็นจริง เมื่อตรวจสอบเว็บไซต์ของบริษัทที่ได้รับให้ดำเนินการเปลี่ยนป้ายชื่อรถไฟพบว่ามีราคาตั้งแต่ 10,000 กว่าบาท สูงสุดถึง 100,000 กว่าบาทต่อตัว แต่ก็ถือว่าราคาป้ายรถไฟในครั้งนี้สูงเกือบตัวละ 500,000 บาท ตนจึงไม่ทราบว่าวัสดุเป็นอย่างไร หรือมีสเปกอย่างไร
และในฐานะที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น ในเรื่องการใช้งบประมาณควรจะมีการชี้แจงและประกาศให้สาธารณชนได้รับรู้ว่ามีการดำเนินการขั้นตอนและมีความโปร่งใสอย่างไรบ้าง การรถไฟฯ ก็ควรทบทวนและทำให้โปร่งใส
ในส่วนของชื่อที่ได้รับการพระราชทานมาแล้ว ในความเห็นของประธานสหภาพการรถไฟแห่งประเทศไทยมองว่าไม่จำเป็นต้องทำภายใน 30-45 วัน เพราะจะต้องมีกระบวนการประกวดราคา การกำหนดสเปก และเมื่อได้ผลสรุปแล้วจึงจะดำเนินการเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการรถไฟแห่งประเทศไทยและสาธารณชน เพื่อให้สังคมสามารถตรวจสอบได้ด้วย
ส่วนทางด้าน นายสุชีพ สุขสว่าง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รักษาการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงต่อประชาชนอยู่ ยืนยันว่าทุกกระบวนการทำด้วยความโปร่งใส และชัดเจน ทั้งยังเชื่อว่าสังคมจะเข้าใจมากขึ้นหลังมีการชี้แจงของการรถไฟแล้ว
ส่วนกรณีที่ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สั่งให้มีการตรวจสอบเรื่องนี้ภายใน 7 วัน นายสุชีพ ยังยืนยันว่าการเปลี่ยนป้ายในราคา 33 ล้าน มีความเหมาะสมแล้วกับลักษณะตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อรองรับป้ายใหม่ด้วย เพราะว่าจะต้องนำป้ายของเก่าออกทั้งหมดก่อน รวมถึงตัวกระจกด้วย จึงจะสามารถนำป้ายใหม่มาติดได้ ทั้งนี้ ข่าวแจกสื่อมวลชนสำหรับรายละเอียดประเด็นดังกล่าว จะมีการเผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กการรถไฟแห่งประเทศไทย ภายในช่วงเย็นวันนี้ (4 ม.ค.) เพื่อให้สาธารณะได้รับทราบ
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตอบสื่อมวลชน ถึงกรณีใช้งบฯ 33 ล้านบาท เปลี่ยนป้ายสถานีกลางซื่อ แพงไปไหม
ส่วนการใช้งบฯ 33 ล้านบาทนั้น นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็เร่งให้มีการตรวจสอบ ได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงคมนาคมไปตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และรายงานว่าดำเนินการตามระเบียบกฎหมายถูกต้องหรือไม่ และให้รายงานให้กระทรวงฯ ทราบภายในวันศุกร์ที่ 6 มกราคมนี้
ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่า นอกจากยกเลิกก็ต้องถูกลงโทษด้วยเช่นกัน เรื่องนี้ตามลุ้นกันต่อว่า วันศุกร์ที่ 6 มกราคมที่จะถึง ผลการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลจะออกมาแบบไหน หากผิดจริง บทลงโทษจะเป็นอย่างไร เรื่องนี้คงต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิด
พบกับรายการ “เช้านี้ที่หมอชิต” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 05.50-7.30 น. ทางช่อง 7HD กด 35