เหตุการณ์สุดซวยของหนุ่มพนักงานขาย เป็นลม แต่เพื่อนร่วมงานกลับถ่ายคลิปไปฟ้องหัวหน้า ใส่ร้ายว่าแอบหลับเวลางาน จนถูกไล่ออก ล่าสุดคู่กรณีโต้ ผู้เสียหายลาออกเอง
วันที่ 13 ก.ย. 65 ศรีธนเลิศ แก้วผ่อง (พี) ผู้เสียหาย เล่าว่า ตนทำงานเป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง วันเกิดเหตุตนเข้างานปกติ แต่ไม่ได้กินข้าวเช้าไป แล้ววันนั้นลูกค้าเยอะ ทำให้มีอาการหน้ามืด เหมือนจะเป็นลม ตนเลยแอบนั่งพักตรงบริเวณขายที่นอน หลังจากนั้นตนก็ไม่รู้ตัวแล้ว มารู้อีกทีตอนที่รองผู้จัดการมาสะกิดเรียกให้ตื่น ตนจึงอธิบายให้เขาฟัง จากนั้นช่วงประมาณ 15.00 น. เขาก็นำใบเตือนมาให้ตนเซ็นรับทราบว่าตนทำผิดกฎบริษัทฯ ซึ่งในใบนั้นตนอ่านแล้ว ก็ระบุว่าแค่ว่าเตือนเฉย ๆ จึงเซ็นรับทราบไป ต่อมาช่วง 21.00 น. บริษัทฯโทรมาแจ้งว่า "ไม่ต้องมาทำงานแล้ว" ให้เหตุผลว่ามีลูกค้ารองเรียนเข้ามา ซึ่งตนก็สงสัยว่าใครเป็นคนแจ้ง เพราะช่วงเวลานั้นไม่มีลูกค้าเลย
ทั้งนี้ตนสงสัยรุ่นพี่ที่ทำงาน ว่าเขาเป็นคนทำ เลยไปเซ้าซี้ถามจนเขาหลุดออกมา อย่างไรก็ตามแม้ตนจะบอกว่าไม่ได้อู้งาน ตนเป็นลม เขาก็ยังไม่สน กลับบอกว่า ไม่ใช่หน้าที่เขาที่จะต้องมาเข้าใจ แถมยังบอกว่าตนลาออกไปเอง ยืนยันได้ว่า ตนไม่ได้ออกเอง ส่วนเรื่องที่ตนเป็นลม ตนป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับ มีหลักฐานยืนยันได้ ขณะเดียวกัน เรื่องผลกระทบคือทำให้ตนไม่มีงานทำ และยังไม่สามารถไปสมัครที่อื่นได้ เพราะเคยไปสมัครแล้ว เขาบอกว่าเราประเด็นกับทีนี่ เลยไม่ให้ทำงาน
ด้าน ณัฐธยาน์ ศรีสวัสดิ์ (ฟรอยด์) แฟนผู้เสียหาย เล่าว่า ตนทำงานที่เดียวกับแฟน ยืนยันได้ว่า ช่วงเวลาที่เกิดเหตุไม่มีลูกค้า จึงมั่นใจว่าไม่ใช่จากที่ลูกค้าร้องเรียน ส่วนรูปเคสที่ถูกนำไปร้องเรียนกับบริษัทฯ เขาไม่ได้เอาให้ตนดู เลยสงสัยว่าทำไมถึงไม่ให้ตนดู และสงสัยว่าใครเป็นคนถ่าย และส่งไปร้องเรียนกับทางบริษัทฯ คิดว่าเรื่องนี้เป็นการกลั่นแกล้งกันหรือเปล่า
กาญจนา พูลแก้ว รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตามปกติแล้วการที่จะให้ออกจากงานมันจะต้องมีหลักฐานของการกระทำความผิด เพราะฉะนั้น ตามขบวนการของบริษัทฯ ควรที่จะเตือนพนักงานก่อน 3 ครั้ง ถึงจะให้ออก เขาก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น แต่ถ้าเป็นการกระทำความผิดร้ายแรง สามารถให้ออกได้เลย ไม่ต้องมีใบเตือนได้เลย แต่ในกรณีนี้ตนมองว่าเป็นประเด็นเรื่องของสุขภาพ เขาควรดำเนินการเตือนก่อน ทั้งนี้ถ้าหากผู้เสียหาย คิดว่านายจ้างล่วงละเมิดสิทธิเรา นำหลักฐานไปร้องเรียนตามเขตที่เกิดเรื่องได้เลย จะมีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ปฏิบัติงานอยู่
ขณะที่ ทนายสงกาญ์ อัจฉริยะทรัพย์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้ความเห็นทางกฎหมายว่า กรณีนี้ สามารถดำเนินคดีอาญา ฐานหมิ่นประมาท ถือว่าเป็นการใส่ความให้เกิดการเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อันนี้เข้าข่ายจากกรณีที่บริษัทฯเดิม เอาข้อมูลส่วนตัวของเราไปให้บริษัทฯใหม่ ผิดตามมาตรา 27 โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ติดตาม รายการข่าวเย็นประเด็นร้อน ช่วง "ถกไม่เถียง" ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ได้ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 17.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35