ผู้เสียหายร้อง ปมซื้อรถตู้จากเต็นท์มือสอง ด้วยเงินสด 1,100,000 บาท ผ่านไป 5 เดือน ไม่ได้เล่มรถ แถมพบผู้เสียหายอีกเพียบ !
วันที่ 24 ธ.ค. 67 ทรงศักดิ์ บำรุงศิลป์ (แฝด) ผู้เสียหาย ออกมาเล่าเรื่องราวผ่านรายการ "ถกไม่เถียง" ทางช่อง 7HD กด 35 ดำเนินรายการโดย ทิน โชคกมลกิจ ว่า ตนพบเต็นท์แห่งนี้ในเฟส ดูรายละเอียดแล้วสนใจ จึงตัดสินใจซื้อ ตนจึงนำรถฟอร์จูนเนอร์ไปเทิร์น เขาให้ราคา 7.5 แสน ให้ตนเพิ่มเงินอีก 3.5 เพื่อให้ครบราคาที่ตกลงกัน หลังจากนั้นตนก็ขับรถคันดังกล่าวกลับบ้าน ก่อนตกลงซื้อรถตนได้ทำการทดสอบรถเรียบร้อย โดยรถอยู่ในสภาพสมบูรณ์ จึงได้ทำสัญญาซื้อขาย
เจ้าของเต็นท์รถออกตัวดำเนินการโอนเล่มให้ เพราะตอนแรกตนจะโอนเอง ที่ไม่ได้สงสัยเพราะคิดว่าเราเป็นลูกค้าเขาคงบริการอย่างนี้เป็นเรื่องปกติ เขาบอกอีกว่าจะโอนเล่มให้ภายใน 1 เดือน ด้านตนก็ได้มีการถามญาติ ๆ ด้วยว่า การโอนเล่มของรถตู้ยากไหม เขาบอกว่าโอนยากกว่ารถธรรมดา ตนจึงไม่ได้สงสัยในส่วนนี้ หลังจากนั้นเขายื่นข้อเสนอที่ทำให้การโอนเล่มง่ายขึ้น คือ ให้เปลี่ยนรถจากที่นั่ง 15 ที่นั่ง เหลือ 11 ที่นั่ง ตนจึงเปลี่ยนเบาะตามคำแนะนำ โดนค่าเปลี่ยนเบาะไป 1 แสนบาท หลังจากเปลี่ยนเบาะนัดเจอเขาที่ขนส่งแต่เขาไม่มา
ตนกลับไปที่เต็นท์รถ ถามหาเจ้าของเต็นท์ แต่พนักงานแจ้งว่า เจ้าของเต็นท์ไม่ได้เข้าเต็นท์กว่า 1 เดือนแล้ว ซึ่งพนักงานคนดังกล่าวก็ปฏิเสธไม่รับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ตนให้พนักงานพยายามติดต่อแต่ก็ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นตนจึงไปแจ้งความ สุดท้ายเจ้าของเต็นท์ติดต่อกลับมาให้ลูกชาย (เบ็นซ์) ลบโพสต์ถ้าลบโพสต์จะนำเล่มมาให้ หลังจากลบโพสต์ก็ติดต่อเขาไม่ได้อีกเลย
ด้าน รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ให้ความเห็นด้านกฎหมายว่า ปัจจุบันในการซื้อขายรถมือสอง ต้องสอบถามให้แน่ใจว่าเต็นท์รถแห่งนี้ รวมกันมาขายหรือเป็นของเจ้าของคนเดียว ประเด็นสำคัญคือเล่มติดปัญหากับที่อื่นไหม ติดจำนำ ติดค้ำประกันหรือไม่ ถ้าเป็นกรณีนี้จะเข้าข่ายฉ้อโกง
ภัทร์ บำรุงศิลป์ (เบ็นซ์) ลูกชายผู้เสียหาย เล่าว่า ตนตรวจสอบแล้ว เต็นท์รถแห่งนี้แล้วประวัติดี รีวิวดี ไม่มีส่วนให้น่าสงสัย ตอนเช็กสภาพรถ รถก็อยู่ในสภาพสมบูรณ์มีเล่มพร้อม หลังระยะเวลาผ่านไป 1 เดือน ตนก็ตามเล่ม ได้คำตอบว่า ยังไม่ได้โอน โอนยาก ติดปัญหาต่าง ๆ
ด้าน อนุพงษ์ เจริญเวช นักสืบสวนสอบสวนชำนาญการพิเศษ (สคบ.) ให้ความเห็นว่า ธุรกิจซื้อขายรถยนต์ใช้แล้วต้องทำให้ถูกต้อง โดย 1. ต้องมีฉลากและระบุว่าใครถือกรรมสิทธิ์ ถ้าไม่มี มีความผิดอาญา 2. ต้องมีหลักฐานการรับเงินและมีข้อความตามที่ สคบ. กำหนด 3. สัญญาซื้อขายที่ส่งมอบให้ผู้บริโภคต้องมีข้อความและรายละเอียดตามที่ สคบ. กำหนด
พ.ต.อ. วิโรจน์ ตัดโส ผกก.สภ.สำโรงเหนือ ให้ความเห็นว่า ในส่วนที่ผู้เสียหายได้แจ้งความไว้ มีโอกาสเข้าเงื่อนไขการฉ้อโกง ให้ผู้เสียหายเข้ามาให้การเพิ่มเติมที่ สน. ได้เลย
ติดตาม รายการ “ถกไม่เถียง” ดำเนินรายการโดย “ทิน โชคกมลกิจ” ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 17.30-18.00 น. ทางช่อง 7HD กด 35
+ อ่านเพิ่มเติม