ผู้ตรวจการแผ่นดิน รอ ตำรวจ แจง ปมตรวจสารเสพติดคนบนเรือไม่ครบ ด้าน ปอ รับ คือคนที่ตรวจเจอ อัลปราโซแลม ด้าน หมออั้ม อธิบาย ไม่มีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ แต่หากใช้ผิด ๆ อาจนำไปมอมได้
พันตำรวจโท กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ออกมาเปิดเผยว่า ได้รับหนังสือผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ ตามที่นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาและแสวงหาข้อเท็จจริง ตลอดจนตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี กรณีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเลือกปฏิบัติในการตรวจหาสารเสพติดและแอลกอฮอล์ในร่างกายของพยานจำนวน 3 คน แต่ไม่ตรวจหาสารเสพติดในร่างกายของพยานอีก 2 คน ซึ่งเป็นคดีเดียวกันและอยู่ในสถานที่เกิดเหตุเดียวกัน
จากผลการตรวจพิสูจน์ตัวอย่างเลือดโดยวิธี Gas Chromatography ตรวจไม่พบแอลกอฮอล์แต่อย่างใด แต่ผลการตรวจหาสารเสพติดของพยานบุคคลจำนวน 1 ราย ตรวจพบสารกลุ่มเบนโซไดอาซิปินส์ ชนิดอัลปราโซแลม ซึ่งทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังรอการชี้แจงข้อเท็จจริงจากตำรวจภูธรภาค 1 ต่อไป
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของประเด็นการตรวจหาสารเสพติดนั้น ล่าสุด มีกระแสข่าวระบุว่า ปอ ตนุภัทร ได้ออกมายอมรับว่า ตนเองเป็นคนที่ถูกตรวจพบสารยาอัลปราโซแลม ขนาด 0.5 มิลลิกรัม โดยได้มาจากคลินิกแห่งหนึ่ง ซึ่งกินยาเพื่อแก้เครียด แต่กินหลังจากเกิดเหตุไปแล้ว ก่อนจะไปตรวจสอบเลือดในร่างกายและเจอสารของยานี้
สำหรับยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) เป็นยากลุ่ม benzodiazepine ที่ออกฤทธิ์สั้น หรือนานปานกลาง ซึ่งใช้สำหรับรักษาอาการวิตกกังวล สงบ และช่วยให้นอนหลับ มีการดูดซึมยาภายใน 1-2 ชั่วโมง ส่วนอาการจากฤทธิ์ของยา จะทำให้สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ ความสามารถในการจดจำลดลง หรือการตัดสินใจฉับพลันเสื่อมลง เนื่องจากยานี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง จึงมีผู้ที่นำยานี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด เช่นที่ปรากฏตามสื่อต่าง ๆ เป็นต้น
การใช้ยากลุ่มนี้ในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดการติดยาทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งถ้าหยุดยาทันทีจะเกิดอาการขาดยาหรือถอนยา เช่น คลื่นไส้ นอนไม่หลับ มือสั่น หัวใจเต้นเร็ว ซึมเศร้า เป็นโรคจิต หรืออาจถึงกับชักได้ สำหรับ ยาอัลปราโซแลม ถูกควบคุมเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559
ขณะที่ความเคลื่อนไหวด้าน “หมออั้ม” นายแพทย์อิราวัต อารีกิจ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก กล่าวถึงยาอัลปราโซแลมว่า จริง ๆ แล้วไม่ใช่ “ยาเสียสาว” อย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่เป็นการเล่นคำของสื่อมวลชนจนกลายเป็นความเชื่อที่ผิด โดยยานี้เป็นยารักษาอาการวิตกกังวล โรคซึมเศร้า บางกรณีใช้เป็นยานอนหลับ ไม่มีสีไม่มีกลิ่น แต่ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นอารมณ์ทางเพศ
โดยผู้ใช้ยาจะมีอาการง่วงซึม และเป็นยาอันตราย หากทานร่วมกับยาอื่น ๆ โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือการใช้ร่วมกับยาเสพติดชนิดอื่น ๆ ฉะนั้น การนำยานี้มาใช้ในทางอาชญากรรมกับบุคคลอื่น เพื่อหวังผลให้ผู้อื่นมีอาการง่วงซึม และหลับไป หรือตื่นมาพร้อมกับความทรงจำระยะสั้นที่หายไป ซึ่งเป็นการนำมาใช้เพื่อก่ออาชญากรรมทางในทรัพย์สินและร่างกาย
ส่วนกรณีที่เป็นข่าวดัง ในขณะนี้ หากเป็นการตรวจ ณ วันเกิดเหตุ หากร่างผู้เสียชีวิตไม่มีสารอัลปราโซแลมในร่างกาย โอกาสจะเป็นอาชญากรรมในประเด็นเรื่องยาก็จะน้อยลงในมุมของการมอมยา แต่หากเป็นกรณีตรวจพบยาในร่างผู้เสียชีวิต จะเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พลิกคดีได้ และแน่นอนว่า ผลจะคลาดเคลื่อนสูงหากไม่ได้รับการตรวจแบบทันท่วงที
ชมผ่าน YouTube ได้ที่ https://youtu.be/26dNSaS5jn4