กรมอนามัย เตือน แอร์สกปรก ไม่ล้าง เป็นแหล่งสะสมความชื้นเสี่ยงป่วยโรคลีเจียนแนร์ - ไข้ปอนเตียก แนะควรล้างแอร์ประจำ
น.พ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงอากาศร้อนที่มีการใช้แอร์กันมาก หากปล่อยให้แอร์สกปรก หรือไม่ล้างแอร์เป็นเวลานาน ความชื้นจากตัวแอร์และท่อน้ำทิ้ง จะทำให้เชื้อโรค ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือเชื้อรา โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียลิจิโอเนลลานิวโมฟิวลา เจริญเติบโตได้เร็ว หากหายใจเอาฝอยละอองน้ำที่มีเชื้อนี้ปนเปื้อนเข้าไปจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยอาการที่พบมี 2 แบบ ได้แก่
1. แบบมีอาการปอดอักเสบรุนแรง มีไข้สูง ไอ หนาวสั่น เรียกว่า “โรคลิเจียนแนร์” (LEGIONELLOSIS)
2. แบบมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เรียกว่า “ไข้ปอนเตียก” (PONTIAC FEVER)
ดังนั้น จึงควรมีการล้างทำความสะอาดแอร์เป็นประจำ โดยดูตามความเหมาะสม จากสภาพแวดล้อมและการใช้งาน หากเป็นแอร์ตามบ้านควรล้างแผ่นกรองอากาศด้วยน้ำสบู่หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค โดยใช้น้ำฉีดแรง ๆ ที่ด้านหลัง และด้านที่ไม่ได้รับฝุ่นให้ฝุ่นและสิ่งสกปรกหลุดออกอย่างน้อยเดือนละครั้ง และควรล้างแอร์แบบเต็มระบบอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเช่นเดียวกัน แต่หากใช้เป็นประจำทุกวัน ควรล้างทำความสะอาดประมาณ 6 เดือนต่อครั้ง เพื่อช่วยลดเชื้อโรคที่อาจสะสมอยู่ในแอร์ และประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้อีกทางหนึ่งด้วย
น.พ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการล้างแอร์แบบระบบรวม ควรเปิดน้ำทิ้งจากหอหล่อเย็นให้แห้งเมื่อไม่ได้ใช้ทำความสะอาดขัดถูคราบไคลตะกอน เติมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อฆ่าเชื้อรา และทำความสะอาดหอหล่อเย็นอย่างน้อย 1 - 2 ครั้งต่อเดือน ไม่ให้มีตะไคร่เกาะ ทำลายเชื้อโดยใส่คลอรีน ให้มีความเข้มข้น 10 ppm เข้าท่อที่ไปหอผึ่งเย็นให้ทั่วถึงทั้งระบบไม่น้อยกว่า 3 - 6 ชั่วโมง หลังจากนั้นรักษาระดับคลอรีนให้ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 0.2 ppm และสำหรับแอร์ในห้องพักต้องทำความสะอาด ถาดรองน้ำ ที่หยดจากท่อคอยส์เย็นทุก 1 - 2 สัปดาห์ ไม่ให้มีตะไคร่เกาะหรือใส่น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“ทั้งนี้ ตามมาตรฐานประกาศกรมอนามัย เรื่อง ข้อปฏิบัติการควบคุมเชื้อลิจิโอเนลลาในหอผึ่งของอาคารในประเทศไทย และสำหรับแอร์ที่ใช้ตามบ้านเรือน เมื่อเปิดแอร์ควรสังเกตว่าอากาศที่ออกมาจากแอร์มีกลิ่นเหม็นหรือมีกลิ่นอับหรือไม่ หากมีกลิ่นในเบื้องต้นควรล้างทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศที่อยู่ในแอร์ด้วยน้ำสบู่ หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค หากล้างทำความสะอาดแล้วกลิ่นไม่หาย ควรเรียกช่างเพื่อทำความสะอาดแบบเต็มระบบ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
+ อ่านเพิ่มเติม