ภาพยนตร์เรื่องร่างทรงเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมและสื่อมวลชนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการกลับมาทำภาพยนตร์สยองขวัญอีกครั้งของผู้กำกับ โต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล โดยได้ร่วมงานกับนาฮงจิน ผู้กำกับภาพยนตร์สยองขวัญชื่อดังชาวเกาหลีมาเป็นผู้อำนวยการสร้าง ร่างทรงได้ฉายรอบเปิดตัวในประเทศเกาหลีและได้รับผลตอบรับที่ดีเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่รอคอยและคาดหวังของคอภาพยนตร์ไทยว่าจะได้เห็นหนังผีไทยที่มีคุณภาพอีกครั้ง
ร่างทรงเล่าเรื่องราวของครอบครัวของป้านิ่ม ซึ่งทำหน้าที่เป็นร่างทรงย่าบาหยันคอยช่วยเหลือปัดเป่าโรคร้ายที่รักษาไม่ได้ให้แก่ชาวบ้าน โดยผู้ที่จะสืบทอดร่างทรงของย่าบาหยันจะต้องเป็นผู้หญิงในตระกูลเท่านั้น ป้านิ่มไม่มีลูกแต่มีหลานชื่อมิ้ง ที่คาดว่าอาจจะเป็นผู้สืบทอดร่างทรงย่าบาหยันต่อไป แต่แล้วกลับเกิดเหตุประหลาดขึ้นกับมิ้ง ทำให้ครอบครัวต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไขสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น
การนำเสนอของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นรูปแบบ Mockumentary เป็นการทำเหมือนว่าถ่ายสารคดีอยู่ การนำเสนอรูปแบบนี้เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ค่อยได้เห็นกันในภาพยนตร์ไทย ซึ่งเป็นการถ่ายทำที่ค่อนข้างยาก และสามรถเกิดข้อผิดพลาดหรือความไม่สมเหตุสมผลขึ้นได้
นอกจากนี้ตัวภาพยนตร์ยังใช้วิธีเล่าเรื่องแบบ Slow Burn เป็นการเล่าเรื่องแบบช้า ๆ ที่จะนวดคนดูไปเรื่อย ๆ ผ่านสถานการณ์ที่ไม่ปกติและดูไม่น่าไว้วางใจ จากนั้นจึงได้มาเร่งเร้าในจังหวะ Climax ของเรื่อง ทำให้ร่างทรงเป็นหนังผีที่แตกต่างจากหนังผีไทยเรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมา เพราะการเล่าเรื่องแนวนี้จะทำให้คนดูรู้สึกไม่สบายใจไปกับสถานการณ์ มากกว่าที่จะมีฉากผีปรากฎตัวออกมาทำให้ตกใจ หรือเรียกว่า Jump Scare ที่เป็นวิธียอดนิยมในการทำหนังผี
ผลตอบรับของร่างทรงจากผู้ชมชาวไทยจึงมีทั้งชอบและไม่ชอบ เนื่องจากภาพยนตร์ค่อนข้างแหวกแนวไปจากหนังผีไทยที่เคยมี และยังนำเสนอเนื้อหาที่ชวนตั้งคำถามและท้าทายความเชื่อส่วนตัวของผู้ชมบางส่วนอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ยังมีผู้ชมบางส่วนไม่ชอบวิธีการนำเสนอรูปแบบ Mockumentary เพราะมีข้อผิดพลาดที่มีค่อนข้างเยอะ บางคนอาจจะมองข้ามไปได้ แต่บางคนก็เห็นว่าการเลือกวิธีนำเสนอแบบนี้คือความผิดพลาดที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้
ปัญหาในการนำเสนอรูปแบบ Mockumentary ของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ช่างภาพสารคดีที่ควรจะเป็นเหมือนตัวละครอีกตัวหนึ่งค่อนข้างขาดความเป็นมนุษย์ไปในบางฉาก หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นมืออาชีพมากเกินไป จนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว
ส่วนผลตอบรับที่แตกต่างกันอย่างมากที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้คือ ฉาก Climax ตอนสุดท้ายของเรื่อง ถ้าหากว่าเป็นผู้ชมที่ชอบในความแปลกใหม่ของเนื้อหาก็อาจจะประทับใจในฉากนี้ แต่ถ้าหากเป็นผู้ชมที่ชอบความสมเหตุสมผลหรือชอบหนังผีไทยแบบดั้งเดิมก็อาจจะไม่ชอบฉากจบของภาพยนตร์เรื่องนี้หรือเกลียดภาพยนตร์เรื่องนี้ไปเลย
ไม่ว่าผลตอบรับของภาพยนตร์เรื่องร่างทรงจะเป็นอย่างไรก็ตาม นับได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือหมุดหมายสำคัญของภาพยนตร์ไทยและหนังผีไทย เป็นจุดเรื่มต้นของไอเดียที่สดใหม่ในการสร้างภาพยนตร์ รวมถึงการที่ผู้กำกับกล้าที่จะเลือกเส้นทางการนำเสนอที่แตกต่างไปจากเดิม คอภาพยนตร์ต่างก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ร่างทรงจะเป็นตัวจุดประกายให้กับผู้สร้างภาพยนตร์ไทยมีความกล้าที่จะนำเสนอไอเดียที่แปลกใหม่หรือสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากกระแสนิยม ซึ่งจะทำให้ภาพยนตร์ไทยมีความหลากหลายและมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น