กระทรวงยุติธรรม สั่งให้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไถเงินค่าดูแลแม่ในเรือนจำ ออกจากราชการไว้ก่อน
กระทรวงยุติธรรมนางสาวพรพิมล สวนสำราญ อายุ 31 ปี อาชีพค้าขาย เข้าร้องเรียนทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม หลัง ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ โทรมาขอเงิน ค่าดูแลแม่ของตนเอง ที่อยู่ในเรือนจำทัณฑสถานหญิงธนบุรี
นางสาวพรพิมล เผยว่า หลังจากแม่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ ได้ประมาณ 1 เดือน มีเบอร์แปลกโทรติดต่อมาหาครอบครัว แล้วบอกว่า ถ้าอยากให้แม่สบาย ให้โอนเงินให้ และได้โทรมาขอตรงๆ โทรมาขอเรื่อยๆ พร้อมบอกว่าจะดูแลแม่อย่างดี หางานเบาๆให้ทำ ซึ่งพ่อของตนเองนั้น มีอาชีพขับวินมอเตอร์ไซค์ รายได้วันละ 300 บาท ก็พยายามหาเงินแล้วเอาให้เอาเงินให้เขาไป
ซึ่งครั้งแรก ที่มีการให้เงิน คือ ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.64 มีการขอเงิน 1,000 บาท โดยพ่อของตนเอง ได้ขี่รถจักรยานยนต์ เอาเงินสดไปให้ที่ บ้านพักเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำพิเศษธนบุรี หลังจากนั้น มีการขอครั้งที่ 2 อีก 1,000 บาท ครั้งที่ 3 อีก 1,000 บาท ครั้งที่ 4 อีก 200 บาท ค่าผัดกะเพรา ครั้งที่ 5 อีก 500 บาท ค่าเสื้อกันหนาว โดยอ้างว่าจะเอาไปให้แม่ แต่แม่กลับไม่ได้รับ ได้เพียงเสื้อแจกจากรัฐบาล ซึ่งครั้งนี้ ได้เอาเงินสดไปให้ช่วง ม.ค.65 ที่ บ้านพักเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เรือนจำพิเศษธนบุรี เช่นเดียวกัน ครั้งที่ 6 อีก 1,000 บาท ครั้งที่ 7 มีจดหมายจากแม่ ที่ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ รายนี้ แจ้งกับญาติว่า แม่เขียนจดหมายมาถึงพ่อให้พ่อเอาเงินให้ เขา 1,000 บาท ครั้งที่ 8 โทรมาขอค่าเค้กงานวันเกิดลูกของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เองอีก 1,000 บาท ครั้งที่ 9 อีก 400 บาท โดยอ้างว่า แม่รูดของในเรือนจำไม่ทัน
นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คนนี้ ยังบอกกับพ่อของตนเองอีกว่า ไม่สามารถเข้าเยี่ยมได้ เนื่องจากโรคระบาดโควิด-19 และไม่สามารถส่งจดหมายได้ด้วย ทำให้ทางครอบครัวไม่สามารถรับรู้อะไรเกี่ยวกับแม่ที่อยู่ในเรือนจำได้เลย จนกระทั่ง ตนเองไปที่หน้าเรือนจำ และเจ้าหน้าที่แจ้งว่าสามารถเขียนจดหมายได้ตลอด จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไม เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คนนี้ถึงโกหกทางครอบครัว ซึ่งตรงนี้ทำให้รู้สึกว่าถูกจำกัดสิทธิ ถูกละเมิดสิทธิ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายนี้ ยังเคยขอยืมเงินพ่อตนเอง 10,000 บาท โดยอ้างว่าน้องชายขับรถชน แต่ครั้งนั้นพ่อไม่ให้ยืม เพราะเริ่มรู้สึกว่ามันแปลกๆ
สิ่งที่ตนเองเป็นห่วงมากที่สุด คือ ไม่สามารถติดต่อแม่ได้หลายเดือนแล้ว และครั้งล่าสุดที่ติดต่อได้ คือเดือนกุมภาพันธ์ ผ่านจดหมายที่ทางเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายนี้นำมาให้กับพ่อของตนเองที่ระบุว่า ให้นำเงินให้เขา 1,000 บาท
ซึ่งหลังจากที่เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น ตนเองได้โทรหาเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คนดังกล่าว เพื่อสอบถามเรื่องราวที่เกิดขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คนนี้ ก็นัดให้ตนเองไปเจอ แต่พ่อไม่ให้ไป เพราะกลัวเรื่องความปลอดภัย เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ คนดังกล่าว จึงได้พยายามติดต่อมา โดยการโทรหา ส่งข้อความมา ลักษณะไม่อยากให้เอาเรื่อง แต่ตนเองคิดว่า ปล่อยไว้ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ มีหลายครอบครัวที่โดนคนนี้หลอก ตนเองจึงได้ตัดสินใจมาปรึกษาทนายรณรงค์
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนเองพยายามโทรหา ผบ.เรือนจำที่แม่อยู่ โดยโทรจากเบอร์ที่ค้นหาในกูเกิล แต่ทุกครั้งที่โทรไป ผู้คุมหญิงรายนี้จะเป็นคนรับสายตลอด จึงทำให้ไม่ได้โอกาสได้พูดคุยกับ ผบ.เรือนจำเลย
ต่อมา 10.00 น. นายวัลลภ นาคบัว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เดินทางมารับหนังสือร้องเรียน พร้อมกับเปิดเผยว่า ทางกระทรวงยุติธรรมไม่ได้นิ่งนอนใจเลย ได้มีสั่งให้ออกจากราชการ เพื่อให้เกิดความชัดเจน พร้อมกับแต่งตั้งกระบวนการสอบสวนยุติธรรม ตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยและอาญาของผู้คุมอยู่หญิงคนดังกล่าวอย่างรวดเร็วแล้ว
โดยหลังจากนี้ก็จะตรวจสอบว่ามีพฤติกรรมแบบนี้มาแล้วกี่ครั้ง เนื่องจากมีข้อมูลว่าผู้คุมคนดังกล่าวมีหลักฐานการโอนเงิน จึงตรวจสอบรายการรับโอนทุกบัญชี มีโทษทางวินัยและอาญาด้วย ซึ่งอาญาแบ่งเป็น 2 ส่วน ให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ไว้ก่อน ส่วนเรื่องวินัย ก็จะมีการดำเนินการตามขั้นตอนที่ได้บอกไปก่อนหน้านี้แล้ว
ขณะที่ ทางกระทรวงยุติธรรมเอง ก็ได้รับเรื่องร้องทุกข์ของครอบครัวอีกส่วน ในเรื่องความปลอดภัยของคุณแม่ที่อยู่ด้านในเรือนจำ ซึ่งว่าทางครอบครัวหรือผู้ถูกคุมขังไม่สบายใจ ก็จะทำเรื่องโอนไปอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลางบางเขนได้
ส่วนประเด็นเรื่องที่ผู้เสียหาย ได้โทรเข้าเบอร์กลางของเรือนจำ เพื่อสอบถามความเป็นอยู่ของคุณแม่ แต่ผู้คุมหญิงรายนี้ เป็นคนรับสายถึง 3 ครั้งนั้น จะนำเรื่องนี้ไปตรวจสอบอีกครั้ง แต่เบื้องต้น ผู้คุมจะมีการแบ่งเวรกันปฏิบัติหน้าที่ ทั้งประชาสัมพันธ์ รับโทรศัพท์ และดูแลผู้คุมขังด้วย