คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร อนุญาตให้เล่นน้ำสงกรานต์ได้ (แบบพรม) แต่ต้องอยู่ในสถานที่ที่ขออนุญาตจัดกิจกรรมสงกรานต์ โดยเบื้องต้นมีผู้ขอจัดงาน 8 สถานที่ เช่นถนนข้าวสาร เซ็นทรัลเวิลด์ และสงกรานต์งานวัด แต่ต้องเป็นไปตามมาตรการโควิด-19 เช่น เว้นระยะห่าง จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมงานในแต่ละพื้นที่ไม่ให้เบียดเสียดกัน เพื่อลดการติดเชื้อจากการจัดงานสงกรานต์
วันที่ 29 มี.ค.65 นายขจิต ชัชชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ที่ศาลาว่าการ กทม. 2 (ดินแดง) ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม.มีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ตามประเพณีในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แต่ข้อปฏิบัติและระเบียบต่างๆ จะต้องให้ผ่านการพิจารณาของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ ที่ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งคาดว่าจะมีการลงนามในเร็วๆนี้ และ กทม.จะออกคำสั่งตามระเบียบดังกล่าวภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เพื่อให้มีผลในวันที่ 1 เมษายน 2565
“ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดกิจกรรมสงกรานต์ โดยเบื้องต้นอนุญาตให้จัดกิจกรรมตามประเพณีได้ เล่นน้ำแบบประพรม แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการ COVID Free Setting ห้ามประแป้ง ปาร์ตี้โฟม รวมถึงห้ามจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่จัดงาน ตลอดจนต้องควบคุมความหนาแน่นในพื้นที่จัดงาน 1 คน ต่อ 4 ตารางเมตร (ตรม.) และจะต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาด้วย” นายขจิต กล่าว
ทั้งนี้ส่วนพื้นที่สาธารณะ อย่างเช่น ท้องถนน ฯลฯ ห้ามให้มีการเล่นน้ำ ประแป้ง และปาร์ตี้โฟม
ปลัด กทม.กล่าวต่อว่า ขณะที่กิจกรรมรวมกลุ่มในครอบครัวนั้น ให้มีการรดน้ำดำหัว และจัดกิจกรรมในที่มีการระบายอากาศได้ดี สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา งดกิจกรรมการสัมผัสใกล้ชิด หรือใช้สิ่งของร่วมกัน หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มร่วมกันเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุควรได้รับวัคซีนให้ครบก่อนเข้าร่วมกิจกรรม
นายขจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีพื้นที่แลนด์มาร์คต่างๆ และวัด ที่ยื่นเรื่องขอจัดงานมาแล้วประมาณ 7-8 แห่ง ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ส่วนการจัดงานสงกรานต์ของแต่ละสำนักงานเขตนั้น ขณะนี้ ยื่นเรื่องมาว่าไม่จัดงานแล้ว 46 เขต เหลืออีก 4 เขต ยังไม่ได้แจ้งว่าจะจัดหรือไม่จัด ซึ่งคาดว่าสาเหตุที่ไม่จัด เพราะเกี่ยวเนื่องมาจากช่วงนี้เป็นช่วงการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ซึ่งจะมีทั้งการเปิดรับสมัคร และต่อเนื่องไปจนถึงช่วงหาเสียงของผู้สมัคร
สำหรับพื้นที่ที่ต้องการจัดกิจกรรมสงกรานต์ในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 1,000 คน ให้ทำเรื่องขออนุญาตไปที่สำนักงานเขตนั้นๆ แต่หากมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเกิน 1,000 คน จะต้องทำเรื่องขออนุญาตไปยังสำนักอนามัย กทม. โดยจะต้องทำเรื่องขออนุญาตล่วงหน้า 5 วันเป็นอย่างน้อยก่อนจัดกิจกรรม
ส่วนกรณีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น แหล่งข่าวจากในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ระบุว่า สำหรับร้านค้าบริเวณโดยรอบสถานที่จัดงานสงกรานต์ ที่ไม่ได้อยู่ในสถานที่จัดงาน สามารถเปิดให้บริการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ตามปกติ แต่ต้องเป็นร้านที่มีสัญลักษณ์มาตรฐาน SHA หรือ SHA Plus และต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 และตามระเบียบของ กทม. อีกทั้งยังจำกัดเวลาจำหน่ายและบริโภคถึงเวลา 23.00 น. เท่านั้น
+ อ่านเพิ่มเติม