ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จนขณะนี้เข้าสู่เดือนที่ 3 ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เปลี่ยนแปลงไปมากถึง 19 ครั้ง ซึ่งผู้ค้าน้ำมันประเมินราคายังมีโอกาสพุ่งไม่หยุด และคาดว่าอาจทุบสถิติ หรือหากคำนวณเป็นเงินบาทแล้ว อาจจะขยับขึ้นอีกลิตรละ 6-7 บาท
ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ เฉพาะกลุ่มผู้ค้ารายใหญ่เปลี่ยนแปลงไปมากถึง 19 ครั้ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซล ปรับขึ้นลิตรละ 90 สตางค์ โดยราคาต้นทุนพุ่งทะลุเกินลิตรละ 30 บาทมาระยะหนึ่งแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลให้ความช่วยเหลือภาคขนส่ง เพราะมีผลต่อราคาสินค้า จึงดูแลราคาเพดานขายปลีกไว้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท ส่วนน้ำมันในกลุ่มเบนซิน ราคาขยับสูงขึ้นไปแล้วลิตรละ 6 บาท
นายชัยฤทธิ์ สิมะโรจน์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ซัสโก้ ประเมินหากสถานการณ์ระหว่างยูเครนและรัสเซียยืดเยื้อ ก็เป็นไปได้สูงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกอาจจะพุ่งทะลุเกิน 150 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากสถิติเดิมเมื่อ 14 ปีก่อน ราคาน้ำมันสูงสุดเคยพุ่งแตะ 114 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากเทียบกับค่าเงินบาทในขณะนี้ ก็เป็นไปได้ว่าราคาน้ำมันอาจทะยานเพิ่มอีกลิตรละ 6-7 บาท เพราะทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงของราคาน้ำมันที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลต่อราคาขายปลีกลิตรละ 20 สตางค์ พร้อมย้ำ การแข่งขันในตลาดผู้ค้าน้ำมันรุนแรง ระดับราคาสูงก็เป็นอุปสรรคทางการค้า และรัฐบาลควรทบทวนแนวทางให้ความช่วยเหลือผู้ใช้น้ำมันในกลุ่มเบนซิน
ด้านกลุ่มผู้ใช้น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ไม่ว่าจะกลุ่มจักรยานยนต์รับจ้าง หรือกลุ่มไรเดอร์ เรียกร้องให้รัฐบาลเข้าช่วยบรรเทาผลกระทบท่ามกลางค่าครองชีพพุ่งไม่หยุด
โดยขณะนี้ กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างหารือแนวทางดูแลราคาเชื้อเพลิงในประเทศ หลังสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบไปแล้วกว่า 27,000 ล้านบาท ส่วนราคาก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม ที่รัฐบาลตรึงราคาไว้ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ล่าสุดราคาก็ยังขยับเพิ่มขึ้น ต้องลุ้นกันว่า รัฐบาลจะดูแลเสถียรภาพราคาต่อไป หรือจะปล่อยราคาให้สะท้อนตามกลไกตลาด เพราะมีอีกหลายปัจจัยที่จะต้องนำมาประกอบการพิจารณา
อาจจะใช้วิธีขยับราคาแบบขั้นบันได คือ ขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัม ทุกไตรมาส หรือทุก 3 เดือน ดังนั้นไตรมาสแรกจะปรับขึ้นเป็น 333 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม และเบื้องต้นจะขึ้นถึงสิ้นปี รวม 3 ครั้ง คิดเป็นวงเงินที่เพิ่มขึ้น 45 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม
+ อ่านเพิ่มเติม