ทุกครั้งที่เราเติมน้ำมัน เราจ่ายเงินตามราคาที่เห็นหน้าปั๊ม แต่เคยสงสัยไหมว่าในราคาน้ำมัน 1 ลิตรนั้น มีองค์ประกอบอะไรบ้าง? และทำไมราคาถึงเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ? บทความนี้จะพาคุณเจาะลึกทุกองค์ประกอบของราคาน้ำมัน ตั้งแต่การนำเข้าน้ำมันดิบจนถึงราคาขายปลีกที่เราเห็นกันหน้าปั๊ม
ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าราคาน้ำมันขายปลีกที่เราเติม เป็นคนละตัวกับราคาน้ำมันดิบ และราคาหน้าโรงกลั่น เพราะหลังจากขุดน้ำมันออกมาแล้ว ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามมามากมาย ดังนี้
1. ราคาหน้าโรงกลั่น คือ ส่วนต่างกำไรที่ธุรกิจโรงกลั่นจะได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ โดยคิดมาจาก “ค่าการกลั่น” ซึ่งเป็นต้นทุนจากเนื้อน้ำมันดิบ บวกด้วยค่าดำเนินการกลั่น และต้นทุนค่าขนส่ง ทั้งนี้ ค่าการกลั่นของไทยจะอ้างอิงตามตลาดสิงคโปร์
2. ภาษีที่จ่ายให้รัฐบาล แบ่งออกเป็น
- ภาษีสรรพสามิต น้ำมันแต่ละชนิดจะมีอัตราเรียกเก็บที่แตกต่างกันไป
- ภาษีเทศบาล เรียกเก็บเพื่อเป็นเงินอุดหนุนในพื้นที่ที่มีโรงกลั่นตั้งอยู่ ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% เช่นเดียวกับสินค้าอื่น ๆ ทั่วไป
3. เงินกองทุนน้ำมัน โดยมีด้วยกัน 2 กองทุน ได้แก่
-กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นเงินสำรองไว้ใช้ตอนที่ราคาน้ำมันสูงขึ้น ก็จะดึงเงินตรงนี้่มาพยุงไม่ให้ราคาแพงเกินไป ซึ่งน้ำมันแต่ละชนิดจะมีอัตราเรียกเก็บไม่เท่ากัน
-กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อนำไปส่งเสริมพลังงานทดแทนในประเทศ น้ำมันทุกชนิดโดนเก็บเท่ากันที่ 0.10 บาท/ลิตร
4. ค่าการตลาด คือ ส่วนที่เป็นเหมือนกำไรขั้นต้นของปั๊มน้ำมัน ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถกำหนดเองได้แต่จะมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดโดยกระทรวงพลังงานโดยให้กรอบค่าการตลาดไว้ว่าขึ้นลงได้ไม่เกินช่วงราคาเท่าไร
สาเหตุที่ราคาน้ำมันแต่ละปั๊มไม่เท่ากัน เกิดจากหลายปัจจัย เริ่มตั้งแต่
1.ค่าใช้จ่าย ของแต่ละปั๊มน้ำมัน: โดยกำไรของธุรกิจปั๊มน้ำมันจะมาจากค่าการตลาดเป็นหลัก สำหรับค่าการตลาด ก็คือส่วนต่างระหว่างต้นทุนน้ำมันที่ซื้อจากโรงกลั่น ภาษี และเงินส่งเข้ากองทุนต่าง ๆ กับราคาขายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปที่ปั๊มและก็ต้องนำไปหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆแต่ปั๊มเอง ก็ไม่สามารถตั้งราคาได้ตามอำเภอใจ เพราะหากตั้งราคาขายสูงเกินไป ลูกค้าก็อาจหันไปใช้บริการปั๊มอื่นได้
2.คุณสมบัติน้ำมันแตกต่างกัน: แม้ว่าส่วนใหญ่ น้ำมันดิบที่ประเทศไทยนำเข้า จะมาจากแหล่งตะวันออกกลาง น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นออกมานั้น จึงมักมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน แต่น้ำมันสำเร็จรูปของปั๊มแต่ละแบรนด์ ก็มีการปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น การเติมสารต่าง ๆ เพื่อเพิ่มคุณสมบัติ ส่งผลให้ราคาขายปลีกของปั๊มแต่ละแบรนด์นั้น มีราคาแตกต่างกันได้
3.พื้นที่ตั้งปั๊มน้ำมัน: หลายคนคงเคยเห็นว่า ปั๊มตามชนบทในพื้นที่ห่างไกล มักจะมีราคาขายปลีกสูงกว่าปั๊มที่ตั้งอยู่ในเมือง
เนื่องจาก ปั๊มตามชนบทในพื้นที่ห่างไกล มักจะมียอดขายและลูกค้าน้อยกว่าปั๊มในเมือง และมีต้นทุนการขนส่งสูงกว่าส่งผลให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มตามชนบทในพื้นที่ห่างไกล จึงมีราคาขายปลีกแพงกว่าปั๊มน้ำมันในเมือง ก็เป็นไปได้เหมือนกัน
4.กลยุทธ์ทางการตลาด:
บางปั๊มอาจจำหน่ายน้ำมันเกรดพิเศษหรือมีส่วนผสมที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาที่ขาย
บางปั๊มน้ำมันอาจมีโปรโมชั่นหรือสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้า เช่น การลดราคาช่วงเวลาหนึ่งหรือการให้คะแนนสะสม
แต่ละบริษัทน้ำมันอาจมีนโยบายการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับกลยุทธ์ทางการตลาดและการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
5.ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบและการจัดหา:
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนสูง เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น เหตุการณ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และปัจจัยธรรมชาติ การที่แต่ละปั๊มได้รับน้ำมันดิบในช่วงเวลาที่แตกต่างกันและที่ราคาต่างกัน จะส่งผลให้ต้นทุนการจัดหาน้ำมันแตกต่างกัน
นอกจากนี้ บางปั๊มอาจมีสัญญาซื้อขายน้ำมันในระยะยาว ซึ่งสามารถส่งผลให้ต้นทุนแตกต่างกันจากปั๊มที่ซื้อขายน้ำมันในตลาดแบบทันที
การเข้าใจโครงสร้างราคาน้ำมันช่วยให้เราเห็นภาพรวมว่าทำไมราคาน้ำมันจึงมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้บริโภคสามารถเลือกเติมน้ำมันจากสถานีบริการที่เหมาะสมกับความต้องการ โดยพิจารณาทั้งด้านราคา คุณภาพ และบริการเสริมที่ได้รับ
พบกับ "โคชหนุ่ม" และ "กาย สวิตต์" ได้ใน "เงินทองของจริง" ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 9.05-9.15 น. ทางช่อง 7HD กด 35 และช่องทางออนไลน์ TERO Digital
รับชมผ่าน YouTube ได้ที่