เนื่องในโอกาสวันวาเลนไทน์ ตำรวจได้ออกมาเตือนภัยอาชญากรรมออนไลน์ โดยอาศัยจังหวะเทศกาลแห่งความรัก วอนอย่าหลงเชื่อ โอนเงิน ถ่ายคลิปลับ มอบสิ่งของ กับบุคคลในโลกออนไลน์
วันที่ 14 ก.พ. 2565 พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 14 ก.พ. ของทุกปี เป็นวันเทศกาลวาเลนไทน์ หรือที่เรียกกันว่าเทศกาลแห่งความรัก ที่คู่รักทั่วโลก รวมถึงคู่รักในประเทศไทยจะใช้โอกาสนี้ในการแสดงออกถึงความรัก ด้วยการส่งดอกไม้ ของขวัญ เงิน ให้คนรัก เนื่องในโอกาสพิเศษนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงขอประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนพี่น้องประชาชน ให้ระมัดระวังมิจฉาชีพที่อาศัยโอกาสจากเทศกาลแห่งความรัก มาหลอกลวงเอาทรัพย์สินจากพี่น้องประชาชน โดยอาชญากรรมออนไลน์ที่คนร้ายเป็นชาวต่างชาติใช้ความรักในการหลอกลวงเหยื่อหลักๆ มี 3 ประเภท ดังนี้
1. Romance Scam หลอกรักให้เปย์ แล้วเททิ้ง คนร้ายเป็นแก๊งชาวผิวสี เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอมโดยใช้รูปผู้อื่นส่วนใหญ่จะปลอมเป็นชาวยุโรป อเมริกัน หรือชาวตะวันออกกลาง ที่หน้าตาดี หล่อ รวย หน้าที่การงานดี มีการใช้ชีวิตที่หรูหราเข้ามาทักทายเหยื่อ (เป้าหมายคือหญิงไทยอายุ 40 ปีขึ้นไป) ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน
โดยอ้างว่าภรรยาเสียชีวิตหรือหย่าร้าง อยากใช้ชีวิตที่เหลือกับหญิงไทย โดยถูกใจเหยื่อมากใช้วิธีการแชทเรียกเหยื่อหวานหยดย้อย เช่น Darling , Sweetheart , My love พอเหยื่อหลงเชื่อและหลงรัก ก็จะเริ่มหลอกลวงเพื่อหวังเงินจากเหยื่อโดยจะใช้วิธีการต่างๆ ได้แก่ อ้างว่าจะส่งทรัพย์สินมีค่ามาให้
จากนั้นจะมีผู้ร่วมขบวนการซึ่งเป็นคนไทยจะติดต่อเหยื่อโดยอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรหรือบริษัทส่งของระหว่างประเทศ มีการเรียกเก็บภาษีหรือค่าปรับจากเหยื่อ, อ้างว่าป่วยแต่ประกันสุขภาพมีปัญหา ขอให้เหยื่อโอนค่ารักษาพยาบาลมาให้, อ้างว่าได้รับมรดกจำนวนมากแต่ต้องมีการจ่ายภาษีมรดกก่อน ขอให้เหยื่อช่วยโอนเงินมาให้และอ้างว่าได้รับสัมปทานหรือทำสัญญากับภาครัฐ จะได้ผลกำไรจำนวนมาก ขอให้เหยื่อโอนเงินมาจ่ายให้กับภาครัฐก่อนทำสัญญา เป็นต้น เมื่อเหยื่อหลงเชื่อก็จะสูญเงินทั้งหมดไป
2. Hybrid Scam หลอกรักชวนลงทุน คนร้ายเป็นแก๊งชาวจีน เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยใช้รูปหญิงสาวสวยชาวเอเซีย น่าเชื่อถือ ลักษณะเหมือนนักธุรกิจ เข้ามาเข้ามาทักทายเหยื่อ (เป็นผู้ชายอายุ 30 ปีขึ้นไปที่เข้าใจระบบการลงทุนออนไลน์) ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พอเหยื่อหลงเชื่อหรือหลงรัก คนร้ายก็จะบอกกับเหยื่อว่ามีธุรกิจใหม่น่าลงทุน ผลตอบแทนสูง เช่น การเทรดค่าเงินต่างประเทศ อ้างว่าได้กำไรแน่นอน
จากนั้นจะส่งลิงก์แอปพลิเคชัน มาให้เหยื่อติดตั้งในโทรศัพท์ และเริ่มมีการนำเงินมาลงทุน แรกๆ จะได้กำไรจริง จากนั้นจะชักชวนเหยื่อให้เพิ่มวงเงินการลงทุน เมื่อเทรดแล้วได้กำไร การจะนำเงินออกจากระบบต้องจ่ายภาษี 30-40% เช่น ถ้าลงทุนได้กำไร 1,000,000 บาท ต้องโอนเงินประมาณ 400,000 บาท เข้าระบบก่อน เมื่อเหยื่อโอนเงินเข้าระบบแล้ว ก็จะไม่สามารถถอนเงินออกได้ทำให้เหยื่อหลงเชื่อสูญเงินเป็นจำนวนมาก
3. Sextortion หลอกให้ถ่ายคลิปช่วยตัวเองแล้วเอามาแบล็กเมล์ (Blackmail) คนร้ายเป็นแก๊งชาวฟิลิปปินส์ เริ่มต้นด้วยการสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ปลอม โดยใช้รูปหญิงสาวสวย เซ็กซี่ เข้ามาเข้ามาทักทายเหยื่อ (เป็นผู้ชาย ที่มีหน้าที่การงานมั่นคง มีฐานะดี เป็นที่นับถือในสังคม เป็นคนรักครอบครัว)ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ แล้วสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน พอเหยื่อหลงเชื่อจะขอ วิดีโอคอล ชักชวนให้เหยื่อถ่ายคลิปวิดีโอ ช่วยตัวเองหรือภาพลามกของเหยื่อส่งมาให้กับคนร้าย
จากนั้นจะบันทึกภาพหรือคลิปของเหยื่อไว้ นำมาข่มขู่เอาเงิน หากไม่ยินยอมจะขู่ว่าปล่อยคลิปดังกล่าวสู่สาธารณะ หรือส่งให้ภรรยา ผู้บังคับบัญชาหรือเพื่อนของเหยื่อ จนเหยื่อต้องจำใจโอนเงินไปให้คนร้ายเพราะไม่อยากเสื่อมเสียชื่อเสียง
จึงขอความร่วมมือพี่น้องประชาชน อย่าหลงเชื่อ โอนเงิน ถ่ายคลิปลับ มอบสิ่งของ กับบุคคลในโลกออนไลน์ โดยที่ไม่เคยรู้จักหรือพบตัวจริงของบุคคลดังกล่าว หรือมีพฤติกรรมดังที่กล่าวไว้ข้างต้น เพราะอาจตกเป็นเหยื่อจากการใช้ความรักมาหลอกลวงได้ และหากพี่น้องประชาชนพบว่าบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด มีพฤติกรรมในรูปแบบดังกล่าว กรุณาแจ้งเบาะแสไปยังสายด่วน 191 หรือ สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง