นักวิจัยสหรัฐฯ พบ ‘โอมิครอน’ ในกวางป่า หวั่นเชื้อจะกลายพันธุ์
logo ข่าวอัพเดท

นักวิจัยสหรัฐฯ พบ ‘โอมิครอน’ ในกวางป่า หวั่นเชื้อจะกลายพันธุ์

377 ครั้ง
|
10 ก.พ. 2565

นักวิจัยแสดงความกังวล หลังพบเชื้อ ‘โอมิครอน’ ใน ‘กวางหางขาว’ หวั่นจะเกิดเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ ชี้ หากเป็นเช่นนั้นอาจต้องเปลี่ยนวัคซีนที่ใช้กันในปัจจุบัน

 

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนียของสหรัฐฯ เปิดเผย จากการตรวจเลือดและตรวจคัดกรองด้วยการสวอบ กวางหางขาว 131 ตัว บนเกาะสแตเทนใน นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ พบว่าเกือบ 15 เปอร์เซ็นต์มีภูมิคุ้มกันของเชื้อโควิด-19 แล้ว ซึ่งหมายความว่า กวางเหล่านี้ได้ผ่านการติดเชื้อโควิด-19 มาแล้ว และเสี่ยงที่จะติดเชื้อซ้ำด้วยเชื้อกลายพันธุ์ตัวใหม่ โดยสหรัฐอเมริกามีประชากรกวางมากถึงเกือบ 30 ล้านตัว ซึ่งหากเกิดการระบาดในกวางเป็นวงกว้าง อาจจะนำไปสู่การกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่ได้อีก และหากเกิดการระบาดวงกว้างในสัตว์ ก็มีความเป็นไปได้ที่เชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่นั้นจะกลับมาสู่คน

 

ด้าน สุเรช คูจีปูดี นักสัตวแพทย์จุลชีววิทยา แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียสเตท ระบุว่า เมื่อไวรัสมีการกลายพันธุ์อย่างสมบูรณ์ เชื้อไวรัสจะสามารถหลบหลีกการป้องกันจากวัคซีนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนวัคซีนกันอีกครั้ง

 

ขณะที่ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกที่พบเชื้อโอมิครอนในสัตว์ป่า ท่ามกลางการระบาดระลอกใหญ่และรวดเร็วของเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในมนุษย์ในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานว่าสัตว์สามารถแพร่เชื้อไวรัสมาสู่คนได้ แต่พบหลายเคสที่สัตว์ติดเชื้อโควิด-19 จากการใกล้ชิดกับคนที่ติดเชื้อ โควิด-19

 

ทั้งนี้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่า พบเคสของกวางป่าที่ติดเชื้อโควิด-19 เป็นเคสแรกของโลกในรัฐโอไฮโอ ทำให้กวางมาอยู่ในรายชื่อสัตว์อีกประเภทที่ติดเชื้อโควิด-19 นอกเหนือจาก สุนัข แมว เสือ สิงโต เสือดาวหิมะ นาก กอริลลา และมิงค์

 

ที่มา :: ไทยรัฐออนไลน์