มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จับ มือ กรมการแพทย์แผนไทยฯ วิจัย ’กัญชา’ ยกระดับเป็นพืชเศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ และเศรษฐกิจในประเทศที่ยั่งยืน
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เชียงใหม่ จับมือ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ลงนาม MOU เดินหน้าศึกษาวิจัยพืช “กัญชา”และพืชเสพติดที่มีประโยชน์ทางการแพทย์ สู่มิติใหม่ของการสร้างและพัฒนา โดยความร่วมมือมีระยะเวลา 5 ปี (2565 – 2570)
โดย รศ.วีระพล ทองมา อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยฯ จะรับมอบผลผลิตกัญชา จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อผลิตตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ รวมทั้งร่วมกันบริการทางวิชาการ การจัดการเรียน การสอน การฝึกอบรม การศึกษาดูงาน การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านการแพทย์แผนไทยฯ ซึ่ง ม.แม่โจ้ จะเปิดสาขาวิชา การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เพื่อผลิตบุคลากร ให้มีความรู้ ความสามารถ เพื่อรับใช้สังคม ประเทศชาติ ดูแลผู้ป่วยเฉพาะโรค เฉพาะทาง
นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า ยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบทั้งตำรับที่มาจากตำรายาซึ่งมีจำนวนมาก และตำรับที่แพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านมีประสบการณ์ใช้ ประกาศเป็นตำรับยาที่ให้ใช้ได้ตามกฎหมาย นำสูตรตำรับมาผลิตและพัฒนาเป็นยาสำเร็จรูปกระจายในหน่วยบริการของรัฐทุกระดับทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีความจำเป็นได้เข้าถึงยาอย่างกว้างขวางและทั่วถึง ที่ผ่านมาเกือบ 3 ปี มีตำรับยาแผนไทย ตำรับยาพื้นบ้านที่ถูกนำมาใช้มากกว่า 44 ตำรับ และจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ยากัญชามากกว่า 80,000 คน
รัฐบาลปลดล็อกกัญชาออกจากสารเสพติด และผลักดันให้กัญชาไทยสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจ รับการเปิดประเทศอีกครั้ง เพราะการยกระดับกัญชาให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจ ในปี 2564 ผลิตภัณฑ์จากกัญชา กัญชง ในประเทศ มีมูลค่าสูงกว่า 7 พันล้านบาท
ล่าสุดกรมแพทย์แผนไทยฯ มีแผนในการรับช่อดอกกัญชาและกัญชงที่ปลูกในระบบเกษตรอินทรีย์ของ ม.แม่โจ้ ที่ได้รับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติมาผลิตตำรับยาสมุนไพรไทย และเผยแพร่สู่ประชาชนทั่วไป ถือเป็นมิติใหม่ของทั้ง 2 องค์กร ในการสร้างและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและการจัดการ รวมถึงการพัฒนาความร่วมมือในระดับองค์กร ระดับชาติ และนานาชาติ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน