รัฐบาลเตรียมเปิดลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่กลางปีนี้ และให้เริ่มใช้จ่ายตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป
เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มตกหล่น คณะรัฐมนตรี จึงเห็นชอบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2565 กรอบวงเงินกว่า 564 ล้านบาท เปิดรับลงทะเบียนรอบใหม่ เป้าหมาย 20 ล้านคน โดยผู้ที่มีสิทธิเดิมต้องลงทะเบียนทบทวนสิทธิใหม่อีกครั้ง คาดเริ่มลงทะเบียนได้กลางปีนี้
สำหรับคุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้เข้มงวดมากกว่าเดิม มีรายละเอียดดังนี้
คุณสมบัติผู้ลงทะเบียน
1. มีสัญชาติไทย
2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
3. ไม่เป็นบุคคลดังต่อไปนี้ ภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช ผู้ต้องขัง ผู้ถูกกักกัน ผู้ต้องกักขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ฯ ข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญปกติ หรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
4. รายได้ของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว รายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณรายได้เฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมรายได้ของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)
5. ทรัพย์สินทางการเงินได้แก่ เงินฝาก สลาก พันธบัตรและตราสารหนี้ภาครัฐ ของผู้ลงทะเบียนต้องมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง และหากมีครอบครัว ทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนมีมูลค่าไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง (การคำนวณทรัพย์สินทางการเงินเฉลี่ยของครอบครัวของผู้ลงทะเบียนคำนวณได้จากการรวมมูลค่าทรัพย์สินทางการเงินของผู้ลงทะเบียน และสมาชิกในครอบครัวของผู้ลงทะเบียน หารด้วยจำนวนบุคคลทั้งหมดในครอบครัว)
6. อสังหาริมทรัพย์ ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
6.1) กรณีผู้ลงทะเบียนไม่มีครอบครัว
1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
- บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถว ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
- ห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
2.1 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่
2.2 ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่
6.2) กรณีผู้ลงทะเบียนมีครอบครัว
1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)
1.1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว
1.1.1) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดิน ที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของที่ดินที่มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว และตึกแถวร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา
1.1.2) กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดแยกจากกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
กรณีผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสเป็นเจ้าของห้องชุดร่วมกัน ไม่ว่าจะมีบุคคลอื่นเป็นเจ้าของรวมด้วยหรือไม่ก็ตาม ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรสรวมกันต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร
1.2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย
2.1) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 2 ไร่
2.2) ในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่
7) ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีบัตรเครดิต ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
ผู้ลงทะเบียนจะต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้ ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ ดังนี้
- วงเงินกู้สำหรับที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
- วงเงินกู้สำหรับยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท
โดยผู้ได้รับสิทธิดังกล่าว จะเริ่มใช้จ่ายผ่านบัตรประชาชนแทนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิม เพื่อป้องกันปัญหาการสวมสิทธิ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป และจะเปิดรับลงทะเบียนเช่นนี้ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมทั้งตรวจสอบคุณสมบัติและข้อมูลผู้ได้รับสิทธิ เพื่อลดปัญหาผู้ควรได้สิทธิแต่ไม่มีโอกาส และผู้ไม่ควรได้สิทธิกลับได้รับประโยชน์ไป
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี เห็นชอบแนวทางแก้ปัญหา 15 ข้อเรียกร้อง ตามที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเสนอ โดย นายอนุชา นาคาศัย รองประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว ได้นำมติมาแจ้งต่อกลุ่มพีมูฟที่ปักหลักรอคำตอบอยู่บริเวณด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มด้วยตนเอง ซึ่งมติที่สำคัญ เช่น มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติรับหลักการเรื่องยกระดับโฉนดชุมชน เป็นรูปแบบหนึ่งของการจัดการที่ดินไปพิจารณา ศึกษาร่างกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎร ซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบ จากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ เป็นต้น แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมยังไม่ยอมสลายตัว เพราะหนึ่งในข้อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ปัญหาชุมนุมกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย รวมทั้งยุติการดำเนินคดีกับราษฎรในพื้นที่ ยังไม่ได้รับการสนองตอบตามที่ต้องการ
ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองของรัฐบาลสั่นคลอนไม่เลิก หลังถูกท้าทายจากผลการเลือกตั้งซ่อม สส.กทม. ล่าสุด ที่พรรคฝ่ายค้านชนะขาด แถมเสียงสนับสนุนของ สส. ในสภาฯ ก็ขาดหายไปเพราะโควิด-19 และยังต้องเตรียมถูกเปิดศึกซักฟอกกลางเดือนนี้ด้วย
แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งให้ สส.ไม่สามารถปฎิบัติหน้าที่ได้ 12 คน ในขณะนี้ แต่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ยังคงเดินหน้าต่อ ไม่มีการสั่งงดประชุมในสัปดาห์นี้ รวมถึงการประชุมร่วมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า วันที่ 8 กุมภาพันธ์ด้วย และในวันพรุ่งนี้ นายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะนัดประชุมวิป 3 ฝ่าย และคณะรัฐมนตรี เพื่อหารือกรอบเวลาการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 152
ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวตอนหนึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า เรื่องการเลือกตั้งซ่อมที่ผ่านมาว่า จบไปแล้ว ถือเป็นการตัดสินใจของประชาชน อย่าใช้โอกาสนี้ สร้างความแตกแยก และขอให้พรรคร่วมรัฐบาลตั้งใจช่วยกันทำงานต่อไป เพื่อประชาชนและประเทศ พร้อมรับทราบญัตติที่ฝ่ายค้านขอเปิดอภิปรายทั่วไป แบบไม่ลงมติ เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 17-18 กุมภาพันธ์นี้ โดยขอให้ปลัดกระทรวง รัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องเตรียมข้อมูลให้พร้อมรับศึกอภิปรายที่กำลังจะเกิดขึ้นด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ยังได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายกเมืองพัทยา โดยคาดว่าเดือนพฤษภาคมปีนี้ จะสามารถจัดการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมการเลือกตั้งสมาชิกสภา กทม. ส่วนนายกเมืองพัทยา นั้น กกต.ยังติดปัญหาเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง