เฝ้าระวัง!! โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ‘BA.2’ หวั่นแทนที่โอมิครอนเดิม พบแล้วกว่า 40 ประเทศ
logo ข่าวอัพเดท

เฝ้าระวัง!! โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย ‘BA.2’ หวั่นแทนที่โอมิครอนเดิม พบแล้วกว่า 40 ประเทศ

1,101 ครั้ง
|
28 ม.ค. 2565

          สำนักข่าว อินดีเพนเดนต์ รายงานว่า สำนักงานความมั่นคงสุขภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UKHSA) จัดให้ไวรัสโควิด -19 สายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย ‘BA.2’ ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์ที่อยู่ภายใต้การสืบสวนแล้ว หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อตัวนี้แล้ว 426 ราย นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา

          UKHSA ระบุว่า จะวิเคราะห์ BA.2 เพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบลักษณะพิเศษของมัน และทำความเข้าใจว่ามันจะส่งผลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหราชอาณาจักรอย่างไรในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่า อัตราส่วนผู้ติดเชื้อ BA.2 ในอังกฤษเริ่มเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเมื่อเทียบกับสายพันธุ์หลักอย่าง BA.1 แต่ยังคงเป็นส่วนน้อย

          อีกทั้งทางด้านเฟซบุ๊ก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  ยังได้โพสต์ประเด็นโควิด-19 "โอมิครอนระบุว่า

“ตอนนี้เหมือนจะชัดเจนขึ้นในหลายประเทศโดยเฉพาะในอินเดียว่า โอมิครอนตัวน้อง หรือที่ก่อนหน้านี้เรียกชื่อกันว่า โอมิครอนเวอร์ชั่นล่องหน (Omicron Stealth) หรือ BA.2 มีแนวโน้มการกระจายตัวเองได้ไวกว่าโอมิครอนรุ่นพี่ หรือ BA.1 ที่มีต้นกำเนิดมาจากแอฟริกาใต้.”

          ตัวเลขของตัวอย่างไวรัสที่ตรวจในหลายประเทศเห็นแนวโน้มแบบเดียวกันคือ ตัวอย่าง BA.1 เริ่มลดลงขณะที่ BA.2 เริ่มสูงขึ้นชัดเจน ถึงแม้ว่า BA.2 จะมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่งเหมือน BA.1 แต่ไวรัสตัวนี้มีจุดสำคัญหลายตำแหน่งที่เป็นคุณสมบัติของตัวเอง และที่แตกต่างชัดเจนคือ BA.2 ขาดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในยีนโปรตีนหนามสไปค์ ที่เรียกว่า S gene dropout ( DEL69-70)

          หรือการตรวจไม่พบยีนหนาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญช่วยให้ตรวจพบโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิมด้วย RT-PCR อย่างรวดเร็ว ทำให้ยากต่อการตรวจวัด จึงเป็นที่มาของคำว่า "ล่องหน" ของชื่อไวรัสตัวนี้ครับ แต่ทั้งนี้ยีนอื่นยังตรวจได้ RT-PCR จะยังตรวจพบ BA.2 แต่แยกออกจากสายพันธุ์อื่นๆอย่างเดลตาไม่ได้

          อย่างไรก็ตาม จนถึงตอนนี้ BA.2 ถูกพบแล้วในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก มีการส่งตัวอย่างลำดับพันธุกรรมเข้าสู่ฐานข้อมูลของ Gisaid ถึง 8,040 ราย นับตั้งแต่ 17 พ.ย. 2564 โดยมันกำลังแพร่กระจายอย่างรวดเร็วในอินเดีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นชาติแรกที่พบเชื้อสายพันธุ์นี้ ขณะที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราส่วนผู้ติดเชื้อ BA.2 ในเยอรมนีกับเดนมาร์กกำลังเพิ่มขึ้น โดยฝ่ายหลังพบส่งตัวอย่างลำดับพันธุกรรมถึง 6,411 ราย

          BA.2 เติบโตเร็วเป็นพิเศษในเดนมาร์ก โดยพบใน 20% ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่พบในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2564 และเพิ่มขึ้น 4% ในสัปดาห์ที่ 2 ของปี 2565

          ทั้งนี้ ดร.อนันต์ ยังได้ทิ้งท้ายเอาไว้ด้วยว่า ไม่แน่ว่า โอมิครอน ตัวหลัก อาจโดนตัวน้องเอาชนะได้ในอีกไม่นาน อารมณ์ในอินเดียเหมือนตอนไวรัสตัวพี่ของเดลต้า B.1.617.1 ถูกรุ่นน้องอย่างเดลต้า B.1.617.2 ชนะ