กรมชลประทาน สั่งตั้งกรรมการสอบ ถนนปริศนา โผล่กลางทุ่งนา จ.ยโสธร เพื่อความชัดเจนและสร้างความเข้าใจให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ กรณีการสร้างถนนลาดยาง ผิวถนนกว้างประมาณ 5 เมตร เป็นระยะทางยาวประมาณ 1.86 กิโลเมตร และมีระบบไฟส่องสว่างข้างทางโซลาร์เซลล์ตลอดแนวจำนวนกว่า 30 ต้น ก่อสร้างตามแนวเลียบคลองส่งน้ำซึ่งอยู่กลางทุ่งนาเป็นทางตัน ไม่ได้เชื่อมต่อกับหมู่บ้าน เพื่อความชัดเจนและสร้างความเข้าใจให้ประชาชน
นายประพิศ กล่าวต่อว่า เบื้องต้นโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชีล่าง สำนักงานชลประทานที่ 7 สำนักงานชลประทานที่ 7 ได้ชี้แจงว่า การสร้างถนนคันคลองของกรมชลประทาน ถือเป็นงานปกติของกรมชลประทาน แต่ที่ผ่านถนนคันคลองจะใช้เป็นถนนลูกรัง ซึ่งจะมีการซ่อมบำรุงอยู่บ่อย เพราะนอกจากคลองส่งน้ำที่จะช่วยเป็นระบบขนส่งน้ำไปยังพื้นที่ของเกษตรกร ถนนคันคลองยังเป็นที่ที่เกษตรกรจะใช้ขนส่งผลผลิตด้านการเกษตร เพื่อความสะดวกสบาย
นอกจากนี้ นายประพิศ กล่าวอีกว่า เมื่อรัฐบาลปี 2561 มีนโยบายให้ใช้ยางพาราเพื่อ เพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราให้ประเทศ กรมชลประทาน ก็ดำเนินโครงการทำถนนคันคลองโดยใช้พาราซอยซีเมนต์ ตามนโยบายรัฐบาลและถนนคันคลองที่เกษตรกรจะใช้ในการขนส่งผลผลิตก็จะมีความคงทนมากขึ้น
“เดิมถนนคันคลอง เวลาก่อสร้างด้วยลูกรัง เมื่อใช้ก็มีการชำรุดเสียหาย ไม่สามารถส่งน้ำได้ดี รัฐบาลมีนโยบายให้ใช้ยางพาราลาดถนน กรมชลประทานก็ดำเนินการขอปรับปรุงจากลูกรัง มาเป็นการใช้พาราซอยซีเมนต์แทน โดยถนนในเส้นต.ฟ้าหยาดดำเนินการภายใต้งบประมาณ 8.4 ล้านบาท ระยะทาง 1.86 กิโลเมตร เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลใช้ยางพาราในประเทศให้เพิ่มขึ้น โดยโครงการสร้างคันคลองด้วยพาราซอยซีเมนต์ดำเนินการตั้งแต่ 2561 มีทั้งหมด 164 โครงการจะดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันดำเนินการไปแล้ว 100 สาย” นายประพิศ กล่าว
+ อ่านเพิ่มเติม